top of page

การจัดการอารมณ์ฉุนเฉียวเอาแต่ใจของลูกวัย 0-3 ปี

Updated: Mar 5, 2022

แพรเชื่อว่า แม่ๆ หลายคนที่มีลูกอายุระหว่าง 0-3 ปี คงเคยประสบเหตุการณ์ ลูกร้องไห้งอแง กรีดร้อง ทำร้ายร่างกายตัวเอง หรือคนรอบตัว เช่น เตะ ตี หรือ แม้แต่ขว้างปาข้าวของ เมื่อเขาถูกขัดใจ




พฤติกรรมการแสดงออกด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวของลูก เป็นรูปแบบหนึ่งของการประท้วง เมื่อถูกขัดใจ ไม่ให้ทำในสิ่งที่เขาต้องการ พฤติกรรมเหล่านี้พบได้ในเด็กช่วงวัยนี้ เนื่องจาก เขายังไม่สามารถสื่อสารความต้องการของเขาออกมาเป็นคำพูดที่ชัดเจนได้ เช่น ลูกของแพรจะร้องไห้งอแง ไม่พอใจ โดยพฤติกรรมที่แสดงออกคือ ทิ้งตัวลงไปร้องไห้กับพื้น ให้เราอุ้ม แต่พออุ้ม ก็ดิ้น ถีบขา เป็นต้น เนื่องจากเขาไม่ได้เล่นของเล่นที่เขาต้องการ


ในอดีตพฤติกรรมนี้จัดว่า เป็นพฤติกรรมในด้านลบที่เด็กแสดงออกเพื่อให้ได้สิ่งที่เขาต้องการ และคำแนะนำที่ผู้ปกครองได้รับคือ การเพิกเฉย ต่อพฤติกรรมนั้น แทนที่จะตามใจ และ ให้ทุกอย่างที่เขาต้องการ



อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับเด็กในวัยนี้ก็คือ การสร้างความเชื่อใจ และ สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตัวเขา และ พ่อแม่ ซึ่งทำได้โดย การตอบสนองต่อความต้องการของเขา ทำให้เขารับรู้ว่าเขาเป็นที่รัก และรู้สึกปลอดภัย ดังนั้น ในบางครั้งที่เราปล่อยให้ลูกร้องไห้โดยไม่สนใจต่อความต้องการของเขา จะทำให้เขารู้สึก สิ้นหวัง โดดเดี่ยว และ ไม่รู้ว่า เขาจะหยุดร้องไห้ หรือ ทำให้อารมณ์ของตัวเองเย็นลงมาได้อย่างไร


สิ่งที่เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ คือ การสร้างความปลอดภัย ให้ความรัก และ สร้างความเชื่อใจให้กับเขา ซึ่งสามารถทำได้โดย


  1. พยายามใจเย็น หายใจเข้า-ออก ลึกๆ ไม่แสดงอาการโกรธ หรือ โมโหใส่ลูก

  2. วางข้อจำกัด และ กติกาที่ชัดเจนให้กับลูก เช่น พฤติกรรมการทำร้ายร่างกาย หรือ ข้าวของ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับ โดยการบอกกับลูกซ้ำๆ เช่น ลูกตีแม่ไม่ได้นะคะ ลูกโยนของแบบนี้ไม่ได้นะคะ ในครั้งแรกๆ เขาอาจจะไม่ยอมทำตาม แต่ถ้าเราทำบ่อยๆ เขาจะทำตาม เนื่องจาก ลูก ก็ต้องการความรัก และ การยอมรับจากเรา เช่นกัน

  3. ทำความเข้าใจความต้องการของลูก และพูดให้ลูกเข้าใจว่าเราเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการ เช่น “แม่เข้าใจว่าลูกอยากออกไปเล่นข้างนอก” การแสดงออก และ พูดว่าเราเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการ จะทำให้เขาลดพฤติกรรมที่ฉุนเฉียว ก้าวร้าวลง

  4. ให้เหตุผลกับลูก เช่น “ข้างนอกมันร้อน แม่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพลูกให้แข็งแรง ถ้าลูกไปเล่นตากแดด ลูกก็จะไม่สบายได้”

  5. พยายามหาทางเลือกอื่นให้กับเขา เช่น ชวนลูกมาเล่นของเล่นในบ้านด้วยกัน หรือเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปที่สิ่งอื่น

  6. ให้เขามั่นใจว่าเขาจะได้ทำในสิ่งที่เขาต้องการในภายหลัง เช่น เดี๋ยวแม่จะให้ลูกออกไปเล่นตอนเย็น ตอนที่แดดไม่ร้อนแล้ว ลูกต้องอดทนรอหน่อยนะจ๊ะ


ทั้งนี้ หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น การที่เขาจะต้องกลับบ้าน หรือ ออกจากสถานที่ที่เขายังรู้สึกสนุกที่ได้เล่นอยู่ เราสามารถบรรเทาอาการฉุนเฉียวของลูกได้โดย ก่อนถึงเวลาที่จะกลับ 10 นาที เราควรค่อยๆ บอกลูกว่า เราจะต้องเลิกเล่น และกลับบ้าน เพื่อให้ลูกได้เตรียมใจ เป็นต้น


นอกจากนี้ เพื่อที่จะลดอารมณ์ที่เกิดขึ้น จากการขัดใจอย่างกะทันหัน พยายามไม่ห้ามโดยเด็ดขาด โดยบอกว่า “อย่า ไม่ให้” แต่เป็นการให้เหตุผล เช่น ถ้าลูกจะเดินไปข้างนอกที่เป็นพื้นลาด เราอาจจะพูดว่า เดี๋ยวล้มนะลูก เป็นต้น


แน่นอนค่ะ การจัดการพฤติกรรมฉุนเฉียวของลูกที่เขาอาจจะยังไม่สามารถเข้าใจเหตุผลได้ทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การใช้วิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำข้างต้น จะช่วยทำให้ลูกรู้ว่า เราเข้าใจความต้องการของเขา เขาสามารถเชื่อใจเราได้ว่าเราหวังดี และจะคอยช่วยเหลือ และยังช่วยให้ลูกมีเหตุมีผลมากขึ้น สามารถจัดการควบคุมความรู้สึก และพฤติกรรมของตัวเองได้ดีขึ้นอีกด้วย


 

The Better You by Pair


เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ


นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่


การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 100 ชั่วโมง 

การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ 


700 views0 comments
bottom of page