top of page

8 วิธีการจัดการ อาการวัยทอง 2 ขวบ แนะนำโดยสถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน

Updated: Sep 3, 2023


แพรเชื่อว่าทุกคนอยากเป็นพ่อแม่ที่ดี และอยากที่จะเลี้ยงลูกของตัวเองให้เติบโตเป็นคนดี คนเก่งด้วยกันทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูก ให้เติบโตเป็นเด็กดี มีความสุข สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และประสบความสำเร็จในชีวิตในรูปแบบของเขานั้น ก็ไม่ได้มีสูตรที่ตายตัว เนื่องจาก เด็กทุกคนเกิดมาโดยมีอุปนิสัย และความชอบที่แตกต่างกันไป แม้จะเป็นพี่น้องฝาแฝดก็ตาม




ข้อมูลจาก The National Academy of Science ได้ให้ไว้ว่า หน้าที่หลักๆ ของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกมีด้วยกัน 4 อย่าง นั่นคือ 1) การให้ความปลอดภัย และ ดูแลให้พวกเขามีสุขภาพที่ดี 2) รักษาสุขภาพจิตใจของพวกเขาให้สมบูรณ์แข็งแรง 3) พัฒนาทักษะการเข้าสังคมให้กับลูก และ 4) ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองให้กับลูก ซึ่งหน้าที่หลักๆ เหล่านี้จะสามารถช่วยให้พวกเขาเติบโต และ ใช้ชีวิตของเขาเองได้อย่างประสบความสำเร็จ


อย่างไรก็ตาม ทุกช่วงวัยของการเลี้ยงลูกมีบททดสอบเพื่อให้เราได้รับมือกับมันอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะในช่วงวัย 2 ขวบ หรือที่เราเคยได้คนพูดถึงคำว่า “terrible twos” หรือ “วัยทองสองขวบ” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ เด็กน้อยต้องการที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เด็กน้อยเหล่านี้ มีความรู้สึกเกิดขึ้นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น โกรธ เสียใจ ดีใจ กลัว และความต้องการ ซึ่งพวกเขายังไม่สามารถเรียนรู้ที่จะควบคุมความรู้สึกของตัวเองได้ดีเท่าไรนัก และไม่เข้าใจเมื่อเราหยุดไม่ให้เขาทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการทำ จึงส่งผลให้เห็นในพฤติกรรมเชิงลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ฉุนเฉียว กรีดร้องและร้องไห้ หรือแม้แต่ทำร้าย ขว้างปาสิ่งของ

ซึ่งหากพ่อแม่ไม่สามารถรับมือกับอารมณ์ที่แปรปรวนของ terrible twos ได้อย่างเหมาะสม ก็จะส่งผลต่อ พฤติกรรมของลูกในอนาคต เช่น มีการศึกษาของ Yan, Ansari และ Wang ในปี 2019 พบว่า การที่ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ยอมเชื่อฟัง ทำให้พ่อแม่หลายคนจัดการโดย เข้มงวดกับลูก ไม่ให้ลูกทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการทำ จัดการกับชีวิตของลูกมากจนเกินไป ไม่ให้โอกาสลูกในการเลียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ ในแบบของพวกเขาเอง ซึ่งจะมีผลต่อพวกเขา คือ ลูก low self-esteem และ ขาดความมั่นใจในตัวเอง เป็นต้น หรือ พ่อแม่บางคนที่เครียด และหงุดหงิดกับพฤติกรรมในด้านลบของลูก ทำให้ใช้วิธีการจัดการ โดยการลงโทษ และตะโกนใส่ ใช้อารมณ์กับลูก แทนที่จะจัดการด้วยการใช้เหตุผล ทำให้ลูก ได้รับการถ่ายทอดพฤติกรรมความรุนแรงเมื่อพวกเขาโตขึ้น เป็นต้น


วิธีการเลี้ยงดู และจัดการพฤติกรรมของ Terrible Twos ซึ่งแนะนำโดย The American Academy of Pediatrics สามารถทำได้ดังต่อไปนี้

1. ให้ลูกได้รับประทานอาหารและนอนเป็นเวลา เพื่อช่วยให้พวกเขามีอารมณ์ที่ดี ไม่รู้สึกง่วงนอน หรือหิว ซึ่งอาจส่งผลให้แสดงพฤติกรรมในด้านลบออกมาได้


2. ชื่นชมเมื่อพวกเขาทำหรือแสดงออกในพฤติกรรมที่ถูกต้อง และเพิกเฉยเมื่อพวกเขาทำในสิ่งที่ไม่สมควร หรือถูกต้อง


3. ไม่ตีลูก และหลีกเลี่ยงการขึ้นเสียง หรือใช้อารมณ์ เพราะนั่นหมายถึงเรากำลัง เป็นตัวอย่างพฤติกรรมที่ไม่ดีให้กับพวกเขา


4. เบี่ยงเบนความสนใจเมื่อเขาเริ่มแสดงพฤติกรรมในด้านลบ เช่น ชี้ชวนให้ดูสิ่งที่น่าสนใจ เป็นต้น


5. จัดกฎระเบียบที่ไม่ซับซ้อน และอธิบายให้พวกเขาฟัง ถึงเหตุผลที่ไม่ควรทำ เมื่อพวกเขามีพฤติกรรมในด้านลบ ตัวอย่างเช่น บอกลูกว่าต้องจับมือเมื่อจะข้ามถนน เพราะ เราไม่อยากให้รถชนพวกเขา


6. เสนอทางเลือกให้กับลูก เช่น หนูจะปิดทีวี แล้วไปนอนฟังนิทาน หรือว่าจะดูต่อได้อีก 5 นาที แต่งดนิทานคืนนี้ และพรุ่งนี้ก็จะถูกลดเวลาดูทีวีลง 5 นาทีด้วย


7. รักษากฎที่ตั้งไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้พวกเขารู้ว่านี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำ และจะไม่ได้รับการยกเว้น


8. ใจเย็น พูดกับลูกด้วยน้ำเสียงสุภาพ มั่นคง ห้ามและบอกเหตุผลกับพวกเขา

นี่หละคะ บทความจิตวิทยาในการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะในช่วงวัยที่เด็กกำลังเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง แพรหวังว่า จะเป็นประโยชน์ให้คุณพ่อคุณแม่ หลายๆ ทัน ไม่มากก็น้อยนะคะ อย่างไรก็ดี หากมีข้อสงสัย อยากปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยาเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ก็สามารถทำได้เช่นกัน การเลี้ยงลูกน้อยให้มีสุขภาพจิตที่ดี (เราเองก็ต้องมีสุขภาพจิตที่ดี) เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะสร้างคนๆ หนึ่งที่จะสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีความสุข และจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดในขีวิตของพวกเขาได้ในอนาคตนะคะ


 

The Better You by Pair


เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ


นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่


การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 100 ชั่วโมง 

การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ 



bottom of page