top of page

6 วิธีเรียกสติ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

Writer's picture: Ungkana KerttongmeeUngkana Kerttongmee

Updated: Jul 17, 2024

ปกติตอนพักกลางวัน แพรจะต้องพาลูกนอนกลางวัน และ วิธีการของแพรก็คือ การพาลูกนั่งรถ เพราะการที่ปริญญ์อยู่บน carseat เขาถูกบังคับให้อยู่นิ่งๆ แอร์เย็นๆ รถโยกไปมา เปิดเพลงเบาๆ บวกกับ เล่นมาตลอดช่วงเช้า ไม่นานลูกก็จะนอนหลับ



ทุกๆ วัน แพรจะทำแบบเดิมๆ ขับรถวนบนเส้นทางเดิม จนมีอยู่วันหนึ่งที่แพรตั้งใจว่า จะไปซื้อของ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนเส้นทางนิดหน่อย แต่ด้วยความเคยชิน พอขับรถออกมาถึงหน้าหมู่บ้าน ก็เลี้ยวทางเดิม ซึ่งผิดทาง ทำให้แพรกลับมาคิดว่า นี่เราไม่มีสติเลยนะ และ การที่เราขับรถออกมาได้ เราใช้ โหมด autopilot อยู่


Autopilot โหมด คือ การที่สมองของเราตัดสินใจ และ สั่งให้เราทำอะไรต่อมิอะไร จากประสบการณ์ในอดีต (จิตใต้สำนึก) อะไรก็ตามที่เราทำบ่อยๆ ทำเป็นประจำ จนเราชิน เราแทบจะหลับตาทำได้ นั่นหละ autopilot


การที่สมองของเราทำแบบนี้ เพราะว่า เขากำลังจะช่วยเรา ไม่ให้เราต้องคิดเยอะเกินไป ทำงานหนักเกินไปนั่นเอง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเราทำอะไรด้วยความเคยชิน ความคุ้นเคยกับเรื่องทุกเรื่อง ก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ เพราะ เรื่องบางเรื่องอาจไม่ได้เป็นเหมือนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็ได้




นักจิตวิทยาได้บอกจุดสังเกตเพื่อให้เราสำรวจว่า เราใช้ชีวิตแบบ autopilot มากไปอยู่หรือเปล่า ดังนี้


  1. เรามีกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน และ เป็นเหมือนกันทุกวัน

  2. เรามักจะทำตามคำสั่งคนอื่น เราพยายามจะทำให้คนอื่นชอบเรา หรือ พอใจตลอดเวลา จนเลิกคิดว่า จริงๆ แล้วเรารู้สึกยังไง เราอยากทำอะไร

  3. เราเร่งรีบทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพียงเพื่อทำมันให้เสร็จ เช่น รีบเรียนให้จบ รีบหางานทำ รีบหาคู่ รีบแต่งงาน โดยไม่เคยหยุดคิด พิจารณา หรือ ทบทวน ถึงสิ่งที่ทำไปเลย

  4. เรารู้สึกว่าแต่ละวันมันช่างผ่านไปรวดเร็ว เราทำๆ สิ่งที่เราต้องทำ แต่เมื่อจบวัน เราก็รู้สึกว่า เหมือนเรายังไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง เหมือนอะไรบางอย่างมันขาดหายไปจากชีวิตของเรา


เป็นยังไงคะ มีข้อไหนที่ตรงกับคุณบ้างหรือเปล่า



นักจิตวิทยาได้อธิบายไว้ว่า สมองของเราใช้ 2 ระบบในการทำงาน นั่นคือ

ระบบที่ 1 เราเรียกมันว่า autopilot : ระบบนี้จะทำงานแบบอัตโนมัติ ทำงานอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องการข้อมูลมากมาย โดยที่เราไม่ต้องคิดอะไรมาก การประมวลผลการตัดสินใจ มาจากประสบการณ์ และ ทักษะที่เราสั่งสมมา ตัวอย่างเช่น สมองใช้ระบบนี้ทำงานเมื่อเราขับรถ เป็นต้น


ระบบที่ 2 จะทำงานกับข้อมูลที่มีความซับซ้อน เราจะค่อยๆ คิด พิจารณา ใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่จะเชื่อถือได้มากกว่าระบบที่ 1 เพราะผ่านการคิด วิเคราะห์มา ช่วยลดความผิดพลาดจากการตัดสินใจ ด้วยพื้นฐานข้อมูลที่เรามีในอดีต สมองจะใช้ระบบนี้กับเรื่องยากๆ เช่น การตัดสินใจซื้อบ้าน การตัดสินใจเลือกงาน การตัดสินใจแต่งงาน เป็นต้น


ในชีวิตจริง การรักษาสมดุลของการทำงานของสมองทั้ง 2 ระบบ จะทำให้เราใช้ชีวิต และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคุณสามารถทำได้ดังต่อไปนี้


1. พิจารณาว่าเราใช้ระบบไหนกับเรื่องอะไรอยู่


ไม่ว่าเราจะต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร ขั้นแรกที่เราจะต้องทำก็คือ กลับมาสำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก่อน ซึ่งในที่นี้ก็คือ การสังเกตพฤติกรรมของเรา ว่า เราใช้สมองระบบไหนในการตัดสินใจ ถ้าชีวิตของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่ทำแบบเดิมซ้าๆ และ เรารู้สึกหมดไฟ รู้สึกเบื่อหน่ายในชีวิต นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่เราจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลง

2. ตั้งระบบนำทาง


เนื่องจากความคิด ความรู้สึก และ การกระทำของเรา เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน


การใช้ชีวิตแบบ autopilot ก็คือ การปล่อยให้ความรู้สึกมาเป็นตัวนำการกระทำของเรา เราคิด เราตัดสินใจในการทำอะไรจากความรู้สึก


ซึ่งถ้ามองไปให้ลึกกว่านี้ เราจะเข้าใจว่า ความรู้สึกของเรา เกิดจากการตีความเรื่องราวที่เกิดขึ้น และ การตีความก็มาจาก ความเชื่อของเรานั่นเอง


เมื่อเรามีสติมากขึ้น และ หยุดรับรู้ว่า เรารู้สึกอย่างไร ทำความเข้าใจว่า เรารู้สึกแบบนี้เพราะอะไร และ เลือกที่จะตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบใจเรา ในแบบที่จะไม่ทำให้เราเสียใจทีหลัง ซึ่งสามารถทำได้โดย การใช้หลักของ core value หรือสิ่งที่เราให้ความหมายและความสำคัญในชีวิต มาเป็นตัวนำทาง ตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้สึกผิดหวังจากการที่ไม่มีใครไปโรงพยาบาลเป็นเพื่อน แทนที่เราจะปล่อยให้ความรู้สึกผิดหวัง ที่แปลเปลี่ยน เป็นความเจ็บปวด ความเสียใจ และ ความโกรธ เราก็ยึดหลักสิ่งที่เราให้ความหมาย และ ความสำคัญ เช่น เราให้ความสำคัญกับครอบครัว แทนที่เราจะแสดงความโกรธ ก็อาจจะพยายามอธิบายความรู้สึกของเรา และ พยายามเข้าใจว่า ทำไมครอบครัวถึงไม่ไปหาหมอเป็นเพื่อน แทนที่จะคิดไปในด้านลบอย่างเดียว เป็นต้น


3. สร้างความหมายกับกิจวัตรประจำวันของเรา


Autopilot มาช่วยให้เราทำกิจกรรมที่เราทำเป็นประจำได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และไม่ต้องคิดอะไรมาก เราสามารถเอาประโยชน์จาก autopilot มาทำให้เกิดประโยชน์กับชีวิตของเรา โดยการสร้างกิจวัตร หรือ กิจกรรมที่เราจะทำเป็นประจำ ที่จะมีความหมายกับเรา เช่น การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งหากกิจกรรมที่เป็นกิจวัตรประจำวันของเรา มันมีประโยชน์มีความหมาย autopilot ก็จะทำให้สิ่งที่เรามีอุปนิสัยที่ดีนั่นเอง

4. หยุด คิด ทบทวน


การกลับมาหยุดทบทวน เรียนรู้จากสิ่งที่เราทำลงไป จะช่วยทำให้เราทำสิ่งนั้นได้ดีขึ้น และ เข้าใจว่า เราอยากทำสิ่งนั้นเพราะอะไร เราทำได้ดีไหม หรือ อะไรที่เราจะต้องพัฒนา ซึ่งการหยุดทบทวน เป็นการกระตุ้นให้สมองนำระบบที่ 2 มาใช้งานนั่นเอง


5. ออกจาก comfort zone


การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ จะทำให้เรากระตุ้นสมองให้ใช้ระบบที่ 2 มากขึ้น เพราะ เราจะต้องใช้สมองทำงานหนักขึ้น เพื่อที่จะคิด วิเคราะห์ และ ตัดสินใจ สำหรับเรื่องที่เราไม่คุ้นเคย

6. ตัดสินใจให้ดีกว่าเดิม


หากเราสามารถรักษาสมดุลระหว่างระบบที่ 1 และ 2 ได้เป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่เราจะไม่รู้สึกเครียดจนเกินไป แต่เรายังจะสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ดีขึ้นอีกด้วย

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้คุณไม่มากก็น้อยนะคะ


 

The Better You Counseling

คุณพร้อมหรือยังที่จะปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง? The Better You Counseling พร้อมเป็นกุญแจสำคัญในการไขความลับสู่ชีวิตที่ดีกว่า ด้วยบริการให้คำปรึกษาที่หลากหลายทั้ง Online และ Onsite เราพร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการด้านสุขภาพจิตของคุณ

🔓 Individual Counseling: เซสชั่นส่วนตัวเพื่อสำรวจตัวตนและค้นหาแนวทางในการเติบโต

💑 Couple Counseling: เสริมสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างคู่รัก

👥 Group Counseling: แบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มที่มีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน

เรายังมีหลักสูตรด้านจิตวิทยาที่หลากหลาย ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง เพื่อเสริมทักษะการให้คำปรึกษาอย่างมืออาชีพ พร้อมด้วยบริการบำบัดรักษาเฉพาะทางสำหรับ:

🩹 ผู้ประสบภาวะสะเทือนขวัญทางใจ (Trauma)

✍️ การบำบัดผ่านการเขียน (Writing Therapy)

🧘‍♀️ Retreat Program ที่ผสมผสานการบำบัดและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม

สำหรับองค์กร เราพร้อมให้บริการ:

🔍 วิเคราะห์สุขภาพจิตในที่ทำงาน

🎓 จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีในสถานที่ทำงาน

 







4,065 views0 comments

Comments


bottom of page