“They caused the first wound, but you are causing the rest; this is what not forgiving does. They got it started, but you keep it going. Forgive and let it go, or it will eat you alive. You think they made you feel this way, but when you won’t forgive, you are the one inflicting the pain on yourself.” Bryant McGill
.
การให้อภัยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ว่าจะเป็นการให้อภัยตัวเองกับเรื่องที่เราทำผิดพลาดในอดีต หรือการให้อภัยคนที่มาทำร้ายเรา ทำให้เราต้องรู้สึกเสียใจ และเจ็บปวด
.
แต่อย่างไรก็ตาม มีผลงานวิจัย ซึ่งได้ทำการศึกษาและค้นพบว่า การให้อภัย มีผลดีกับตัวเรา ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ คนที่ยึดติดกับความโกรธแค้น หรือยึดติดกับอดีต มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า โรคเครียด และส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอีกด้วย
.
แม้เราจะรู้ว่า การให้อภัยมีข้อดีมากมาย แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ แพรก็เข้าใจว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการปฏิบัติ วันนี้แพรมีข้อคิด 7 ข้อเกี่ยวกับการให้อภัยมาฝากกันค่ะ
1. การให้อภัย ไม่ได้แปลว่า เราจะต้องลืม
การให้อภัยคือ การที่เราตัดสินใจที่จะปล่อยให้เรื่องราวที่อยู่ในอดีต อยู่ในอดีต ยอมรับว่าเรื่องราวนั้นๆ ได้เกิดขึ้นแล้ว และเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ นอกจากทำปัจจุบันของเราให้ดี
2. การให้อภัย ไม่ได้แปลว่า เรารับได้กับเรื่องที่เกิดขึ้น
การให้อภัย ไม่ได้หมายความว่า เรายอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง หรือ เรายอมรับกับเรื่องราวนั้นๆ ได้ เราเรียนรู้จากมัน และเป็นคนกำหนดว่า เราจะไม่ยอมให้เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นกับเราอีก
3. การให้อภัย ไม่ได้แปลว่า เราอ่อนแอ
การโกรธแค้น และต้องการที่จะเอาชนะ หรือทำให้อีกฝ่ายหนึ่งต้องรู้สึกเจ็บปวดเหมือนที่เราถูกกระทำอาจะทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นคนที่เข้มแข็งไม่ยอมคน ซึ่งอันที่จริงแล้ว การที่เราทำเช่นนั้น เรากำลังทำร้ายตัวเองอยู่ และไม่มีประโยชน์ต่อเราแต่อย่างใดเลยในการล้างแค้น
การให้อภัย เป็นการปลดปล่อยตัวเองออกจากอารมณ์ด้านลบที่กำลังทำร้ายตัวเราเองอยู่ เป็นการนำพลังงานในชีวิตของเรานำไปใช้ในการสร้างประโยชน์ให้กับชีวิตของเราแทน ซึ่งถือว่า คนที่ให้อภัยได้ เป็นคนที่เข้มแข็ง และ น่านับถือมาก
4. การให้อภัย ไม่ได้หมายถึง การยอมรับในคำขอโทษ หรือต้องบอกกับอีกฝ่ายหนึ่งว่าเราให้อภัยเขา
เมื่อเราให้อภัย เราไม่จำเป็นต้อง บอกอีกฝ่ายหนึ่งว่าเราให้อภัย หรือ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องกล่าวออกไปว่า เรายอมรับคำขอโทษจากอีกฝ่าย แต่เป็นการรับรู้ได้ด้วยตัวเอง เพื่อปล่อยวาง และเดินหน้าต่อเท่านั้น
5. การให้อภัยเป็นกระบวนการ
เราอาจไม่สามารถให้อภัยคนที่ทำร้ายเรา หรือตัวเราได้ในครั้งแรกอย่างสมบูรณ์ แต่ต้องใช้เวลาในการค่อยๆ ปล่อยวางความโกรธแค้น นั้นๆ จาก 10 คะแนนคือ ให้อภัยไม่ได้เลย ก็อาจจะเป็น 5 เป็น 3 และให้อภัยได้ และวันนั้น เป็นวันที่เราได้ปลดปล่อยตัวเองจากความทุกข์
6. การให้อภัยส่งผลดีกับสุขภาพร่างกายและจิตใจของเรา
การให้อภัย เรากำลังทำสิ่งๆ นี้เพื่อตัวเอง เหมือนเราอยากลดความอ้วน และลงมือออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก มันอาจจะไม่ง่ายในช่วงแรก แต่เมื่อเราทำได้ ผลดีต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นกับตัวเราเอง
7. เป้าหมายสำคัญของการให้อภัย ก็คือ การปลดปล่อยตัวเราจากความโกรธ
คนที่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากอารมณ์โกรธได้ จะส่งผลให้จิตใจเบิกบาน มีความสุขกับชีวิตมากขึ้น อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น การให้อภัย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนที่มาทำให้เราต้องรู้สึกทุกข์ใจ เสียใจ แต่เป็นการทำเพื่อตัวเราเอง เราไม่จำเป็นต้องลืมเรื่องราวที่เกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องยอมให้เรื่องราวนั้นๆ เกิดขึ้นกับเราอีก เราทำเพื่อตัวเราเอง
แพรเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อะไรก็ตามถ้ามันดีกับเรา เราจะพยายามใช่ไหมคะ?
The Better You by Pair
เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ
นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่
การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 1000 ชั่วโมง
การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ
Comments