ความต้องการที่จะควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิต เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่ความต้องการที่จะควบคุมจัดการแค่ไหน ที่จะไม่ทำให้เรามีความสุข
คุณเคยขับรถ โดยมีคนที่นั่งไปด้วยข้างๆ คอยส่งเสียงบอกให้เบรค บอกให้เราระวังตลอดเวลา จนทำให้เราไม่มีสมาธิในการขับรถบ้างไหมคะ? หรือ
ตัวของคุณเองรู้สึกกังวลตลอดเวลาว่า ลูกน้องเราจะทำงานเสร็จทันเวลา และมีคุณภาพตรงตามที่เราต้องการหรือไม่?
ไม่แปลกเลยถ้าคุณจะเคยรู้สึกแบบนี้ ... เพราะนี่คือ ความต้องการของมนุษย์ในการควบคุมจัดการ นั่นเอง
ความต้องการควบคุมจัดการ เป็นความต้องการของมนุษย์ เช่นเดียวกับ ความต้องการอาหาร ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งหากความต้องการของเราไม่ได้รับการตอบสนอง ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางจิตเวช ได้แก่ โรควิตกกังล และโรคซึมเศร้า นั่นเอง
เราต้องรักษาความสมดุลกับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา เช่น เราต้องการที่จะรับประทานอาหาร เพราะเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่จะทำให้เรามีชีวิตรอด แต่อย่างไรก็ตาม หากความต้องการของเราไม่สมดุล และเหมาะสม เช่น เรารับประทานอาหารมาก หรือ น้อยเกินไป ก็จะส่งผลต่อสุขภาพของเราได้เช่นกัน
คนที่รู้สึกขาดความสามารถในการควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิต มักรู้สึก "สิ้นหวัง" มักมีภาวะวิตกกังวล เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ด้วยตัวเอง ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก และเมื่อปล่อยให้ชีวิตเป็นแบบนี้ในระยะเวลานาน พวกเขาก็จะรู้สึกว่า ตัวเองไร้ค่า ไม่มีความหวังต่ออนาคต ไม่มีความสุขในชีวิต และมีภาวะอาการของโรคซึมเศร้า นั่นเอง
ในทางกลับคน คนที่มีความต้องการในการควบคุมจัดการในชีวิตมากจนเกินไป หรือที่รู้จักกันในนามของ control freak ก็ส่งผลต่อสุขภาพจิตต่อบุคคลผู้นั้นเช่นกัน นั่นคือ ภาวะความเครียด
คนกลุ่มนี้มักเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มั่นคงปลอดภัย ทำให้พวกเขารู้สึกไม่มั่นคงและปลอดภัย พวกเขาไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการในวัยเด็ก ไม่ได้รับความรัก และความอบอุ่นจากคนเลี้ยง ทำให้พวกเขารู้สึกว่า พวกเขาจะต้องดูแลตัวเอง และต้องจัดการควบคุมสิ่งต่างๆ เพื่อทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย เป็นสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด นั่นเอง
คนที่รู้สึกว่าพวกเขามีความสามารถในการควบคุมจัดการสิ่งต่างๆ ในชีวิต ในปริมาณที่เหมาะสม จะรู้สึกพึงพอใจในชีวิต และมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้ดีกว่า คนที่รู้สึกว่า สิ่งต่างๆ อยู่นอกเหนือการควบคุมจัดการ
Paul Solvic นักจิตวิทยาจาก University of Oregon ได้เปรียบเทียบความต้องการในการควบคุมจัดการกับการรับความเสี่ยงกับการหั่นก้อนขนมปังไว้ดังนี้ “ถ้าเราต้องหั่นขนมปังด้วยตัวเราเอง เราจะวางมือใกล้มีดมากกว่า เวลาที่เราให้คนอื่นเป็นคนหั่น”
จากการเปรียบเทียบของ Paul Solvic ทำให้เห็นได้ว่า ยิ่งเรามีความสามารถในการควบคุมมากเท่าไร เรายิ่งรับความเสี่ยงได้มากขึ้นเท่านั้น
ในชีวิตของคนเรา มีสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมและจัดการได้มากมาย ซึ่งบ่อยครั้งเราเสียเวลา และเสียสุขภาพจิตในการวิตกกังวลในเรื่องเหล่านั้น เพียงแต่เรามีสติ พิจารณาว่า สิ่งนั้น เป็นสิ่งที่เราควบคุม จัดการได้หรือไม่ และหากเราทำได้ เราก็เริ่มลงมือทำที่ตัวเรา เพียงเท่านี้ เราก็จะคลายความวิตกกังวลไปได้เยอะ โดยการเปลี่ยนความวิตกกังวลในสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมจัดการได้ มาลงมือทำในสิ่งที่เราสามารถควบคุมจัดการมันได้
สิ่งเดียวที่เราสามารถควบคุมจัดการได้ นั่นคือ ตัวเราเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ และส่งผลต่อวิถีชีวิตของเรา ถ้าโลกภายในของเราของเราสงบสุข โลกภายนอก ก็จะเป็นตัวสะท้อนของโลกภายในของเราด้วย
ไม่มีใครชอบถูกควบคุมจัดการ แม้แต่ตัวเราเอง ดังนั้น แทนที่จะไปควบคุมจัดการคนอื่น ซึ่งไม่เพียงทำไม่ได้แล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราด้วย...เริ่มต้น เพิ่มความสามารถในการจัดการของเราได้แล้ววันนี้ ที่ตัวของเราเอง
The Better You by Pair
เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ
นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่
การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 100 ชั่วโมง
การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ
Comments