top of page

เลิกทำ 13 ข้อนี้ เพื่อช่วยให้ลูกมีจิตใจที่เข้มแข็งกว่าเดิม

Updated: Mar 5, 2022

แพรเชื่อว่าคนที่เป็นพ่อแม่ ต้องการให้ลูกของเรามีจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อที่จะสามารถเผชิญหน้ากับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางในชีวิตของพวกเขา

.

เด็กที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเขาเจอเรื่องเศร้า แล้วไม่ร้องไห้ หรือจะต้องเป็นเด็กที่กดความรู้สึกของตัวเองเพื่อแสดงความเข้มแข็งแต่อย่างไร แต่เป็นเด็กที่เมื่อเจอปัญหาและอุปสรรค พวกเขาสามารถอยู่กับความรู้สึกผิดหวังและล้มเหลวได้ และลุกขึ้นมาสู้ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ resilience นั่นเอง



.

วันนี้แพรมีวิธีการสอนลูกๆ ทั้ง 13 ข้อที่จะช่วยเลี้ยงดูให้พวกเขาเติบโตเป็นเด็กที่มีจิตใจที่เข้มแข็งมาฝากกันค่ะ

.

1. การสนับสนุนความคิดว่าเราเป็นเหยื่อ

ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอเรื่องราวที่ไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้ ทุกคนสามารถเจอเรื่องราวนี้ตั้งแต่เป็นเด็ก ไม่ว่าจะเป็น การสอบตก การอกหัก หรือแม้แต่เด็กเล็กๆ ที่ล้มลงเมื่อพวกเขากำลังหัดเดิน

.

พ่อกับแม่สามารถฝึกความเข้มแข็งทางจิตใจของลูกๆ ได้ โดยการไม่เข้าข้างลูกและโทษสิ่งแวดล้อมภายนอก เปรียบเสมือนพวกเขากำลังเป็นเหยื่อในโลกที่ไม่ยุติธรรมใบนี้ แต่สอนให้พวกเขาเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และหาทางจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์

.

2. ไม่เอาความรู้สึกผิดมากำหนดการตัดสินใจที่ถูกต้อง

การที่เราสอนให้ลูกเป็นคนที่มีจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ไม่ควรที่จะมากเกินไป จนลืมความความผิดชอบชั่วดี ตัวอย่างเช่น ที่โรงเรียนอาจจะมีเพื่อนที่ไม่ได้ทำการบ้านมา หรือไม่ได้อ่านหนังสือมาเพื่อมาสอบ และขอลอกการบ้าน ด้วยความรู้สึกผิดของเด็กว่าเพื่อจะโดนครูทำโทษหรือสอบตก เด็กอาจจะยอมทำผิดเพื่อให้เพื่อนลอกการบ้านหรือข้อสอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง



.

3. ให้ลูกเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล

พ่อแม่หลายคนที่รักลูก ให้ความรัก ความเอาใจใส่ ตามใจทุกอย่าง ยิ่งถ้าบ้านนั้นๆ มีเด็กเป็นเพียงคนเดียว บ่อยครั้งเด็กคนนั้นก็มักจะได้ความรักความใส่ใจจากทุกคนรอบตัว เป็นผู้รับโดยลืมที่จะเรียนรู้เป็นผู้ให้ ซึ่งจะมีผลอย่างมากเมื่อพวกเขาโตขึ้นมา เมื่อโลกไม่ได้เหมือนที่บ้านอีกต่อไป

.

การฝึกให้ลูกรู้จักเป็นผู้ให้ รู้จักที่จะสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นเป็นสิ่งที่ดีมาก

.


4. ให้ความกลัวมามีผลต่อการตัดสินใจ

พ่อแม่มีหน้าที่ต้องปกป้องลูกจากอันตราย แต่เราควรให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับความกลัวต่างๆ ด้วย สอนลูกถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น สอนลูกให้เข้าใจความรู้สึกกลัว และรับรู้มัน ฝึกให้ลูกได้รู้จักเผชิญหน้ากับความกลัว อย่าให้ความกลัวมามีผลกับการตัดสินใจในชีวิต โดยที่การตัดสินใจนั้นๆ จะนำพาพวกเขาไปยังชีวิตที่พวกเขาไม่ได้ต้องการอย่างแท้จริง

.

5. ให้อำนาจพวกเขาในการตัดสินใจอย่างเหมาะสม

การฝึกให้เด็กกล้าที่จะตัดสินใจ โดยการฝึกให้ได้มีโอกาสในการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ จะช่วยให้พวกเขามีความมั่นใจ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรให้พวกเขาได้รับรู้ถึงหน้าที่และบทบาทของคนในบ้าน เช่น พ่อ แม่ พี่ หรือญาติผู้ใหญ่ ที่เขาควรจะแสดงความนับถือเช่นกัน

.

6. ไม่คาดหวังความสมบูรณ์แบบ

การสอนให้ลูกมีความพยายามและทำทุกอย่างด้วยความสามารถอย่างดีที่สุด แต่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เราสามารถล้มเหลวได้ ผิดพลาดได้ จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะรับมือกับอุปสรรคในชีวิตได้ดีกว่า และมีความสุขกว่า เด็กที่ต้องพยายามทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ซึ่งเด็กเหล่านี้จะให้คุณค่ากับตัวเองกับมาตรฐานที่คนอื่นกำหนดให้ตลอดเวลา

.

7. ฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบ

ความรับผิดชอบเป็นอุปนิสัยที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราควรฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบในกิจกรรมหรือหน้าที่ของตัวเองตั้งแต่เล็กๆ เช่น การที่จะต้องทำการบ้านให้เสร็จ การต้องแปรงฟันก่อนเข้านอน หรืออื่นๆ

.

8. ปกป้องลูกจากความผิดหวัง ความเจ็บปวด

ความผิดหวัง ความทุกข์เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเจอ แน่นอนคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ไม่อยากเห็นลูกของตัวเองผิดหวังและเจ็บปวด หลายคนพยายามปกป้องลูกของตัวเองจากความรู้สึกนี้ ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาวของเด็กคนนั้นๆ


.

วิธีที่เหมาะสมคือ ฝึกให้ลูกได้เผชิญความผิดหวัง แต่อยู่ข้างๆ พวกเขา คอยแนะนำและให้กำลังใจในการจัดการกับความรู้สึก และปัญหาที่เกิดขึ้น

.

9. รับผิดชอบต่อความรู้สึกของลูกทุกอย่าง

พ่อแม่จำนวนมากอยากให้ลูกมีความสุข ก็จะพยายามสร้างความสุขให้ลูกด้วยวิธีการต่างๆ แต่ในโลกของความเป็นจริง ความรู้สึกมีความสุข หรือ ความทุกข์ เป็นความรับผิดชอบของบุคคลนั้นๆ ดังนั้นเราควรที่จะสอนให้ลูกมีความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตัวเอง และให้พวกเขาเรียนรู้ว่า ความรู้สึกของเราเกิดจากตัวของเราเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลอื่นแต่อย่างใด

.

10. ปกป้องไม่ให้ลูกได้ลองทำผิดพลาด

ความที่เรารักลูก เราอยากมั่นใจว่า ทุกสิ่งที่ลูกทำจะไม่เกิดข้อผิดพลาด เช่น พยายามตรวจการบ้าน เช็คกระเป๋านักเรียนว่าลูกเอาทุกอย่างไปโรงเรียนครบ

เราควรฝึกให้พวกเขาได้เรียนรู้จากความผิดพลาดบ้าง เพื่อให้เขาได้พัฒนา และเรียนรู้วิธีการในการจัดการกับปัญหาได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

.

11. ฝึกให้ลูกมีวินัยแต่ไม่กลัวต่อการถูกลงโทษ

การลงโทษ คือการที่เรา ทำโทษลูกของเราเมื่อพวกเขาทำผิด แต่การฝึกความมีระเบียบวินัยคือ ฝึกให้พวกเขาสร้างอุปนิสัยที่ดีที่จะมีผลต่อความสำเร็จของพวกเขาเองในอนาคต


การฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัยอาจทำได้โดยให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงผลกระทบจากการที่ไม่ทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งไม่ใช่การลงโทษ การที่พวกเขาสามารถรู้ถึงผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลดีหรือผลเสียกับชีวิตของพวกเขาได้ด้วยตัวของพวกเขาเองเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เพราะความกลัวการถูกลงโทษ

.

12. หาทางลัดให้กับลูกๆ

บางครั้งเวลาที่เราเห็นลูกทำอะไรช้า เราก็อยากที่จะช่วยเพื่อให้เร็วขึ้น และดีขึ้น แต่เราควรที่จะเรียนรู้ให้พวกเขาได้ทำเอง ได้ฝ่าฟันอุปสรรค และเรียนรู้การลงมือทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จด้วยตัวเอง ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ

.

13. สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าที่แท้จริงของการมีชีวิต

มนุษย์เราตัดสินใจกับเรื่องสำคัญต่างๆ ของชีวิตด้วยคุณค่ากับเรื่องที่เราให้ สอนให้ลูกของเราเห็นคุณค่าของตัวเอง เรียนรู้ที่จะรักษาคุณค่านั้นๆ เอาไว้


.

นี่หละคะวิธีทั้ง 13 วิธีที่เราจะช่วยให้ลูกของเราโตขึ้นมาเป็นคนที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่ว่าเจออุปสรรคใดๆ ในชีวิต ก็สามารถลุกขึ้นยืนและต่อสู้กับชีวิตได้อีกครั้งโดยที่ไม่ต้องเป็นห่วงอีกต่อไป


 

The Better You by Pair


เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ


นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่


การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 100 ชั่วโมง 

การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ 


bottom of page