7 วิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำเพื่อจัดการกับความเหงาของเรา
Updated: Jul 17
เราไม่จำเป็นต้องรู้สึกโดดเดี่ยว หรือ เหงา ความสัมพันธ์ดีๆ มีอยู่รอบๆ ตัว
พื้นฐานของความต้องการของมนุษย์ทุกคนคือ การต้องการเป็นที่ยอมรับ เราต้องการเป็นที่รักของครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อหรือแม่ของเรา แต่หาก ครอบครัวซึ่งเป็นเสมือนบ้านของเรา ไม่เข้าใจเรา หรือ มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ทำให้เราไม่สามารถเป็นตัวของเราเอง หรือ พูดความรู้สึกที่แท้จริงของเราได้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราก็คือ ความรู้สึกเหงา และโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดทรมานมาก
ในโลกยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีเชื่อมโยงเราให้เข้าใกล้กันมากขึ้น เราสามารถพูดคุยกับคนทั่วทุกมุมโลกได้ทุกเวลาที่เราต้องการ โซเชียลมีเดียทำให้เราเชื่อมต่อกับเพื่อน และผู้คนได้อย่างมาก แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่น่าแปลกที่คนเรากลับรู้สึกเหงามากกว่าเดิม

นักจิตวิทยาได้ให้คำจำกัดความ ความเหงา ว่า คือ ความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง ซึ่งเกิดขึ้น แม้ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย ความรู้สึกนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ กับคนที่มีครอบครัว แต่งงาน อยู่ในงานเลี้ยงสังสรรค์ ไม่จำเป็นว่าคนคนนั้นจะต้องอยูคนเดียว
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว วันนี้แพรขอแบ่งปัน 7 วิธีการที่นักจิตวิทยาแนะนำ เพื่อทำให้เราหายเหงาได้ มาฝากกันค่ะ
1. ติดต่อเพื่อนเก่าที่ไม่ได้คุยกันมานานแล้ว
คนที่เราจะเชื่อมต่อได้ง่ายที่สุด คือ เพื่อนเก่าของเรา ด้วยภารกิจที่เราต้องทำในแต่ละวัน บวกกับ ปัญหาบางอย่างที่เราอยู่กับมันมากเกินไป จนทำให้เราลืมไปว่า จริงๆ แล้ว เรามีเพื่อนอีกหลายคน ที่เราไม่ได้คุยกับเขามานานมากแล้ว
ติดต่อเพื่อนเก่าของเราที่เราไม่ได้คุยมานานมากแล้ว อาจเริ่มต้นด้วยการส่งข้อความไปหาใน facebook เพื่อถามว่าเขาเป็นอย่างไรบ้างสบายดีไหม หรือ โทรหา เพื่อนัดทานข้าวด้วยกัน วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย และ รวดเร็วที่สุด ที่จะทำให้เราได้เชื่อมต่อกับคนอื่น เพื่อลดความเหงาของเราได้
2. การถูกปฏิเสธไม่ได้เกิดบ่อยเท่าที่เราคิดหรอก
มีการทดลองทางจิตวิทยา ได้ทำการทดลองกับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ในงานเลี้ยงสังสรรค์ โดยใช้เครื่องมือในการจับสีหน้า ปฏิกิริยา การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในงานเลี้ยง ซึ่งโดยปกติแล้ว งานเลี้ยงก็จะมีทั้ง ปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวก และ เชิงลบ
จากการทดลองพบว่า คนที่ทำแบบทำสอบ และ มีคะแนนความรู้สึกเหงาสูง มองเห็น ปฏิกิริยาในการมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงลบ สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พวกเขาโฟกัสกับปฏิสัมพันธ์ในด้านลบ ด้วยเหตุผลว่า ภายในจิตใจของพวกเขา มีความกลัวการถูกปฏิเสธอยู่ ซึ่งทำให้พวกเขาหลีกเลี่ยงที่จะเข้าสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นนั่นเอง
ในความเป็นจริงแล้ว การถูกปฏิเสธไม่ได้เกิดกับเราบ่อยเท่าที่เราคิด แต่การที่มันเกิดขึ้น เป็นเพราะ ความคิดของเรา ที่ทำให้เรามีพฤติกรรมที่ทำให้คนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยรู้สึกในด้านลบ เพียงแค่เราบอกตัวเองว่า มีคนที่พร้อมจะเป็นเพื่อนกับเรามากมายๆ เราก็จะสามารถสร้างเพื่อน และ ความสัมพันธ์ที่ดี ที่จะช่วยลดความเหงาให้กับเราได้
3. แรกๆ เราอาจจะรู้สึกแปลกๆ
แน่นอนค่ะ ในช่วงแรกของการเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่ค่อยได้ทำมาก่อน เช่น เริ่มบทสนทนากับคนอื่น หรือ เอาตัวเองไปอยู่ในกลุ่ม หรือ งานเลี้ยงที่มีคนมากๆ การทำแบบนี้ อาจทำให้เรารู้สึกอึดอัด ประหม่า เพราะมันใหม่สำหรับเรา และ เราไม่คุ้นเคย
สิ่งที่เราต้องทำ ก็คือ เพียงแค่รับรู้ว่า เรารู้สึกอย่างไร และ ด้วยความคิดอะไรที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น ถ้าความรู้สึกที่เกิดขึ้น เป็นเพราะเรา กลัวคนจะไม่ชอบเรา ไม่อยากคุยกับเรา ขอให้เราเชื่อว่า ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริง และเลือกที่จะจัดการมันใหม่
4. เราไม่ต้องทำอะไรมากกว่า การเป็นตัวเองเลย
เราอาจมีความเชื่อว่า การที่เรามีเพื่อนน้อย เป็นเพราะอะไรบางอย่างในตัวเรา หรือ แม้แต่มีความคิดว่า เราคุยไม่เก่ง เราไม่รู้จะคุยอะไรกับคนอื่น ขอให้รู้ว่า ไม่เป็นไร การสร้างเพื่อนใหม่ หรือ การเข้าสังคม เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนอะไรเลย ถ้าเราเป็นคนที่คุยไม่เก่ง แต่เราสามารถเป็นผู้ฟังที่ดีได้ ซึ่งการเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นคุณสมบัติที่ดีมากสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นต้น
5. ทำอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าทักษะอะไรก็ตามที่เราต้องการสร้าง หรือ แม้แต่การลดความกลัวการเข้าสังคม เราจะทำมันได้ดีต่อเมื่อ เราทำมันเป็นประจำ สม่ำเสมอ จนเรารู้สึกคุ้นเคยกับมัน
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น การใช้เวลากับครอบครัว หรือ เพื่อน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ และ ทักษะการเข้าสังคม เราควรทำมันเป็นประจำเช่นกัน
6. เข้ากลุ่มต่างๆ ที่เราสนใจ หรือ สร้างกลุ่มงานอดิเรก หรือ สิ่งที่เราสนใจ
อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เรารู้สึกสนุก และ มีเพื่อนใหม่ๆ ที่มีความสนใจคล้ายๆ กับเราด้วย ก็คือ การเข้ากลุ่ม หรือ สร้างกลุ่ม เพื่อให้คนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
เราอาจจะจัดการพบปะ เพื่อทำกิจกรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น ไปวาดรูปที่สวนสาธารณะ แลกหนังสือกัน และ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหนังสือที่อ่าน เป็นต้น
7. ใช้ความรู้สึกเหงา เป็นสัญญาณ เพื่อให้เราพัฒนาทักษะการเข้าสังคม
ความรู้สึกของเราไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น เป็นสัญญาณเพื่อบอกอะไรกับเราบางอย่าง เราไม่จำเป็นจะต้อง เป็นทุกข์และจมกับความรู้สึกนั้น แต่เราสามารถใช้มันเป็นสัญญาณ เพื่อทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น ความรู้สึกเหงา มันกำลังบอกเราว่า เราต้องการเชื่อมต่อกับใครสักคนแบบลึกซึ้ง ดังนั้น เราสามารถตอบสนองความรู้สึกนี้ในเชิงสร้างสรรค์ โดยการพัฒนาทักษะการเข้าสังคมของเรา หรือ แม้แต่พัฒนาความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบตัวให้ดีขึ้น เป็นต้น
สิ่งที่ยากที่สุด ไม่ใช่การสร้างความสัมพันธ์ แต่เป็นการเริ่มต้น
ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามที่เราไม่เคยทำมันมาก่อน เราจะรู้สึกว่ามันยาก ความกลัวในจิตใจเราจะหยุดเราไว้ แต่เรามีความสามารถมากกว่านั้น และ เราสร้างสร้างชีวิตที่ดีที่มีความสุขของเราได้ หวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ
The Better You by Pair
เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ
นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่
การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 1000 ชั่วโมง
การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ