top of page

5 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้เราจากความรู้สึก ฉันไม่เก่ง หรือ ไม่ดีพอ

Updated: Jul 17, 2023

แพรเป็นคนหนึ่งค่ะ ที่มีอาการของ Imposter Syndrome ซึ่งก็คือ ความคิดที่ว่า ความสำเร็จที่เราทำได้ ไม่ได้เป็นเพราะความสามารถของเราหรอก แต่เป็นเพราะโชคชะตา หรือ การช่วยเหลือจากคนอื่น หรือ รู้สึกวิตกกังวลเสมอๆ คิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ และกลัวว่าคนอื่นจะรู้ว่า จริงๆ สิ่งต่างๆ ที่เราทำสำเร็จ หรือ มีได้ ไม่ใช่เพราะความสามารถของเรา เราไม่ได้เก่ง อย่างที่หลายๆ คนอาจจะคิด



อาการ Imposter Syndrome นี้มีสาเหตุมาจากหลายเหตุและปัจจัย ซึ่งนักจิตวิทยาได้อธิบายสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะ Imposter Syndrome ไว้ด้วยกัน 3 สาเหตุหลักๆ ดังต่อไปนี้

1. การเปรียบเทียบ


มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ และ มีความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เพื่อความอยู่รอด สิ่งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่เรายังเป็นเด็ก ซึ่งความสัมพันธ์แรกของเราก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนเลี้ยง เราต้องพึ่งพาคนเลี้ยงของเราในการดูแล และ เลี้ยงดูเพื่อให้เราเติบโต เมื่อเราเติบโตขึ้น สังคมของเราขยายมากขึ้น เราก็ต้องพึ่งพาครู เพื่อน หรือ แม้แต่คนรัก ในการดำเนินชีวิตของเรา



ตามธรรมชาติแล้ว สังคมของมนุษย์ มีลำดับชั้น เรามีหัวหน้า หรือ คนที่เรารู้สึกว่าเขามีอำนาจเหนือกว่าเรา ซึ่งบ่อยครั้ง คือ คนที่มีเงินมากกว่า ตำแหน่งที่สูงกว่า เราจึงเห็นมนุษย์มีการแข่งขันกัน เพื่อที่จะไปในตำแหน่งที่สูงกว่า และ ระหว่างทาง การเปรียบเทียบว่า ใครดีกว่าใคร ก็คือ การเปรียบเทียบกับคนที่เรารู้จักนั่นเอง


การที่เรารู้สึกว่า เราด้อยกว่า หรือ แม้แต่ ถ้าเราอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า (ตามความคิดของเรา) เราก็กลัวว่า คนอื่นจะรู้ว่า การได้มาซึ่งตำแหน่งนั้น ไม่ได้มาจากความสามารถของเราอย่างแท้จริง เรากลัว ที่จะต้องสูญเสียตำแหน่ง และ อำนาจที่เรามี หรือ แม้แต่ความรู้สึกสำคัญ​ ทำให้เราแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาจากความกลัวภายในจิตใจของเรา


ความคิดอัตโนมัติที่บอกว่า เราไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ เป็นสิ่งหนึ่งที่สมองเราพยายามช่วยเรา เพื่อลดความรู้สึกอับอาย ความรู้สึกแย่ ไม่ว่าจะเป็นจากตัวเราเอง หรือ จากคนอื่น ถ้าเราคิดว่า เราไม่เก่ง ไม่คู่ควรตั้งแต่แรก เมื่อเกิดความผิดพลาด หรือ ล้มเหลวขึ้นมา เราจะได้รู้สึกไม่เจ็บปวดมากเท่าไรนัก



2. ความคิดที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับสาเหตุต่อความสำเร็จ และ ความล้มเหลว


ไม่ว่าความสำเร็จ หรือ ความล้มเหลว เราสามารถมองว่าสาเหตุนั้น เกิดขึ้นเพราะตัวเรา หรือ ปัจจัยอื่นๆ ก็ได้


บ่อยครั้งที่คนที่มีอาการ imposter syndrome มีความคิดว่า สาเหตุของความสำเร็จของพวกเขา มาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพราะตัวพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็น โชคชะตา หรือ สิ่งแวดล้อมก็ตาม พวกเขาให้ เครดิต กับตัวเอง ในความพยายาม และ สิ่งที่ได้ทำ เพื่อก่อให้เกิดเป็นความสำเร็จน้อยมาก


ในทางกลับกัน เมื่อเกิดความล้มเหลวขึ้น พวกเขามักมองว่า เป็นเพราะตัวของพวกเขาเอง โดยไม่พิจารณาว่า ความล้มเหลว อาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมจัดการของพวกเขา เป็นต้น



นักจิตวิทยาได้ทำการวิจัย เพื่อทำความเข้าใจการรับรู้จากสาเหตุของความสำเร็จ และ ความล้มเหลว ของผู้ชาย และ ผู้หญิงพบว่า ผู้หญิงส่วนมากคิดว่า ความล้มเหลว มักเกิดขึ้นเพราะตัวของพวกเธอเองมากกว่าปัจจัยภายนอก เช่น หากพวกเธอสอบตก ก็เป็นเพราะ พวกเธอไม่มีความสามารถมากพอ หรือ ไม่ขยันมากพอ ในขณะที่ผู้ชายส่วนมาก มองว่า การที่พวกเขาสอบตก เป็นเพราะ พวกเขาไม่สนใจในเนื้อหาวิชานั้นๆ และ ด้วยมุมมองแบบนี้ ทำให้ ความรู้สึกเกี่ยวกับความสามารถของตัวเราแตกต่างกันไป นั่นเอง


3. บุคลิก และ อุปนิสัย


มีงานวิจัยเชิงจิตวิทยาเปิดเผยว่า คนที่มักมองโลกในแง่ร้าย มักมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และ imposter syndrome มากกว่าคนที่มองโลกในแง่ดี


ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการ imposter syndrome บทความนี้ แพรขอนำเสนอ 5 วิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำในการจัดการความคิดและ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ดังต่อไปนี้


1. รับรู้ความคิด และ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น : เมื่อเรารู้ทันความคิดและความรู้สึกของตัวเองแล้ว สิ่งที่เราควรจะต้องทำก็คือ รับคำปรึกษาในการจัดการอาการนี้จากผู้เชี่ยวชาญ เช่น Cognitive-Behavioral Therapist เพราะ ความรู้สึกซึมเศร้า และ ความรู้สึกวิตกกังวลที่เกิดขึ้น จะยิ่งมีผลเสียต่อมุมมองต่อความชื่นชอบในตัวเอง ความสามารถในตัวเอง และ ทวีความรุนแรงให้กับอาการ imposter syndrome นั่นเอง


2. พูดคุยกับคนอื่นเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้น : หากเรามีเพื่อน และ คนในครอบครัวที่รัก และ หวังดีต่อเรา การแชร์ความคิดและความรู้สึกของเรา จะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ไม่เพียงแต่คนที่รักเราจะช่วยให้กำลังใจ และ ยืนยันในความสามารถที่แท้จริงของเรา บ่อยครั้งที่เราจะรู้ว่า ความคิด และ ความรู้สึกที่เราเผชิญอยู่ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราเพียงคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับคนอื่นด้วยเช่นกัน คนที่เรามองว่า ภายนอกชีวิตของเราดูสมบูรณ์แบบ พวกเขาก็มีปัญหาที่เกิดขึ้นที่พวกเขาต้องเผชิญหน้า และรับมือกับมันเช่นกัน


3. ยอมรับความจริง : หากเราเผชิญหน้ากับความล้มเหลว แทนที่เราจะจมอยู่กับความล้มเหลว และ โทษตัวเอง เราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เราสามารถแยกแยะถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความล้มเหลวนี้ และ มองว่า เราจะปรับปรุงและทำอย่างไรให้ดีขึ้น โดยเริ่มต้นที่สิ่งที่เราสามารถควบคุมและจัดการได้


ความล้มเหลวในอดีต เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และ จบไปแล้วในอดีต ไม่จำเป็นว่า สิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้นกับเราอีกในอนาคต และเหตุการณ์เดียว ไม่ใช่สิ่งที่จะมาบอกความเป็นตัวตน หรือ กำหนดชีวิตของเราในอนาคต


4. มีความสุขกับชีวิตของเรา : ชีวิตเรามีหลายด้าน มีหลายมุม ไม่ใช่เพียงงานเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ถ้าเรารู้สึกแย่กับด้านงาน ในระหว่างที่เราหาวิธีการจัดการเพื่อจัดการความคิดของเรา เราสามารถหาความสุขในชีวิต ได้จากชีวิตด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้เวลากับคนที่เรารัก หรือ งานอดิเรกที่ทำให้เรามีความสุข เป็นต้น


5. เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม : ถ้าสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคน หรือ กิจกรรมที่เราทำ ทำให้เรารู้สึกว่าเราดีไม่พอ หากสามารถเปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น ใช้เวลากับคนที่จะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น รู้จุดแข็งของเรา และ ผลักดันให้เราดีขึ้น ได้ใช้ความสามารถของเราในการช่วยเหลือคนอื่น เป็นต้น

นอกจากนั้น การหาคำคมที่ทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเราเอง ความสามารถของเรา มาติดเพื่อเตือนใจเรา ตั้งเวลาให้เราได้นึกถึงสิ่งดีๆ ที่เรารู้สึกขอบคุณ ความสำเร็จของเรา ก็จะช่วยจัดการกับความรู้สึกไม่ดีของเราได้


นี่หละคะ 5 ข้อที่แพรเองก็จะนำไปใช้กับเราเอง แพรหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ


 

The Better You by Pair


เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ


นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่


การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 1000 ชั่วโมง 

การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ 


bottom of page