top of page

ผลที่เกิดขึ้นกับสมองจากการอกหักและวิธีการตัดใจอย่างได้ผล

Updated: Mar 5, 2022

แพรเชื่อว่า หลายๆ คน คงเคยผ่านความผิดหวังในเรื่องความรักกันมาบ้าง


ซึ่งคนที่เคยผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาคงจะพอเข้าใจถึงความทุกข์ และ ความยากลำบากที่เกิดขึ้น ของการพยายามที่จะลืมคนรักเก่า และ ก้าวเดินต่อไปข้างหน้ากับชีวิตของเรา



ยิ่งถ้าเรายังคงมีความรัก และ ความผูกพันธ์หลงเหลืออยู่ด้วย ยิ่งทำให้ทำใจยากเข้าไปใหญ่


ผลของความทุกข์นี้ ทำให้เราถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือแม้แต่ ไม่สามารถทำการทำงาน ได้เลยทีเดียว


สมองให้ความสำคัญกับความเจ็บปวดทางจิตใจ เช่นเดียวกับความเจ็บปวดทางร่างกาย


การอกหัก คือ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา


นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ทำการศึกษา ผลกระทบของสมองที่เกิดขึ้นระหว่างความเจ็บปวดทางร่างกาย และ ความเจ็บปวดทางจิตใจ โดย การสแกนสมองของผู้เข้าร่วมกันทดลองซึ่งเพิ่งเลิกรากับคนรักในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ด้วยเครื่อง MRI หลังจากให้ดูภาพ 3 ภาพ ดังต่อไปนี้

1. ภาพของคนรักเก่า และ ให้นึกถึงความทรงจำดีๆ ที่มีร่วมกัน

2. ภาพของเพื่อน และ

3. ภาพของคนกำลังเอื้อมมือไปจับของร้อน


ผลของการสแกนสมองพบว่า สมองส่วน Insular และ anterior cingulate cortex ซึ่งเป็นสมองที่ทำงานเกี่ยวกับการคาดการณ์ ตัดสินใจ ควบคุม และ ตอบสนองต่อความเครียด มีปฏิกริยาตอบสนอง เมื่อผู้เข้าทำการทดลองมองภาพคนรักเก่า และ ภาพคนที่กำลังเอื้อมมือไปจับของร้อน ในขณะที่ไม่แสดงปฏิกิริยาตอบสนองแบบเดียวกัน เมื่อมองภาพของเพื่อน


จากการทดลองนี้ สามารถสรุปได้ว่า สมองของเรา ให้ความสำคัญ กับ ความเจ็บปวดที่เกิดทางจิตใจ และ ทางร่างกาย เช่นเดียวกัน

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เพราะในอดีต มนุษย์จะต้องอาศัยสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดจากอันตรายที่เกิดขึ้นจริง เช่น การถูกไล่ล่าจากสัตว์ร้าย สมองจึงทำงานโดยการสั่งให้เราโฟกัสกับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น เพื่อให้เราเตรียมตัวในการจัดการกับภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นนั่นเอง


การที่เราคิดถึงคนรักเก่า เรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด ไม่ได้เป็นภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจริงต่อชีวิตของเรา แต่สมองของเราไม่สามารถแยกแยะได้ สมองจึงทำหน้าที่เช่นเดิม โดยการพยายามเตือนให้เราโฟกัสกับความเจ็บปวด เพื่อจัดการกับมัน นั่นเอง



ความต้องการที่จะคืนดีกับคนรัก มีความรุนแรงเท่ากับ อาการอยากยาเสพติด


ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการทดลองของนักประสาทวิทยา ชื่อว่า Lucy Brown และ Helen Fisher เพื่อทำความเข้าใจสมองของผู้ที่โหยหาคนรักเก่า เพื่อเปรียบเทียบกับ ผู้ต้องการยาเสพติด


การทดลองนี้ ทำการศึกษาสมองของผู้เข้าทำการทดลองจำนวน 15 คน ซึ่งผู้ทดลองจะต้องมีพฤติกรรมที่พยายามขอคืนดีกับคนรักแบบที่แสดงถึงความไร้ค่าของตัวเอง เช่น การไปดักรอ การติดตามคนรักในขณะที่เขาพยายามปฏิเสธ หรือ การพยายามส่งข้อความ โทรหาเพื่อง้อคนรักเก่า หรือ คนที่มีภาวะซึมเศร้า สิ้นหวังในชีวิตหลังจากการเลิกรา


เมื่อให้ผู้เข้าทำการทดลองดูภาพของคนรักเก่า และทำการแสกนสมองด้วยเครื่อง MRI ผลการทดลองพบว่า สมองส่วน Ventral Tegmental และ nucleus accumbens มีการตอบสนอง คล้ายคลึงกับ สมองของผู้ที่อยากยาเสพติด


สมองส่วนดังกล่าวนี้ ทำหน้าที่ ประสานงานของระบบให้รางวัล สร้างความพึงพอใจ และ เสพติด สมองส่วนนี้จะสั่งให้หลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า Dopamine ทำให้เรารู้สึกพึงพอใจ มีความสุข เช่น เมื่อเราได้เจอคนรัก หรือ เมื่อใช้ยาเสพติด


การเสพติด เกิดขึ้นจาก การที่ยาเสพติดมีฤทธิ์สั่งให้สมองกระตุ้นการหลั่ง Dopamine ออกมาจำนวนมาก ทำให้ผู้เสพรู้สึกมีความสุข เมื่อได้เสพ และรู้สึกซึมเศร้า เมื่อไม่ได้ใช้ยา เพื่อที่จะมีความสุขอีกครั้ง ผู้เสพจึงต้องการยาเสพติดอีก การทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทำเราเสพติด และร่างกาย เลิกที่จะผลิต Dopamine ด้วยตัวของเราเอง


ดังนั้น ความรู้สึกเป็นทุกข์​ โหยหา อยากเจอ อยากกลับไปคืนดีกับคนรักเก่า โดยไม่สามารถทำงาน หรือ ดำเนินชีวิตแบบปกติได้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติเลย


สมองของเราจะช่วยให้เราทำใจได้


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะมีความทุกข์ และ มีความรู้สึกโหยหาคนรักเก่า สมองของเราก็พยายามที่จะทำให้เรากลับมามีความสุขกับชีวิตของเราเช่นกัน


สมองส่วน orbito frontal/prefrontal cortex ที่เป็นสมองที่ช่วยในการตัดสินใจ และสมองส่วน cingulate gyrus ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก จะถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างหนัก


ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะสามารถควบคุมอารมณ์ และ ตัดสินใจได้ดีขึ้น! ซึ่งทำให้เราคิดอะไรหลายๆ อย่างได้ และในที่สุดก็จะเริ่มต้นชีวิตของเราใหม่ได้


วิธีการที่เราจะสามารถช่วยสมองเพื่อให้เราทำใจได้เร็วขึ้น สามารถทำได้ 4 วิธีดังต่อไปนี้

1. เลิกดูรูปภาพคนรักเก่า หลีกเลี่ยงการไปสถานที่เดิมๆ ที่จะทำให้เราคิดถึงคนรักเก่า หรือ พูดคุย

2. หากิจกรรมที่ทำให้เรามีความสุขทำ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเราจากแหล่งที่เราพึ่งพิงการหลั่งของ Dopamine หรือสารสร้างความสุขเดิมๆ



3. ออกกำลังกาย : การออกกำลังกายจะช่วยทำให้ร่างกาย หลั่งสาร Domanine ทำให้เรามีความสุข และสาร endogenour opioids ที่จะช่วยให้เรารู้สึกกระฉับกระเฉง ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น และ

4. คิดถึงเรื่องแย่ๆ และเหตุผลที่ทำให้ความสัมพันธ์ครั้งนี้จบลง เพราะ สมองของเราจะพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้เราเจ็บปวดหรือมีความทุกข์ จะทำให้เราไม่อยากกลับไปในความสัมพันธ์เดิมอีก

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ


 

The Better You by Pair


เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ


นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่


การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 100 ชั่วโมง 

การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ 




1,036 views1 comment
bottom of page