top of page

3 วิธีเลิกแคร์คำพูดคนอื่น

Updated: Mar 12, 2022

คุณเคยไม่กล้าทำอะไรสักอย่างเพียงเพราะกลัวคนอื่นจะมองไม่ดี หรือไม่ชอบเรา หรือไม่ และหากความกลัวต่อสายตา หรือคำวิพากวิจารณ์ของคนภายนอกมีผลต่อคุณอย่างมาก จนทำให้ คุณรู้สึกไม่มีความสุข รู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเองหละก็ ถึงเวลาที่เราจะต้องจัดการกับปัญหานี้ได้แล้ว

มนุษย์ทุกคนเกิดมาด้วยความสามารถเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน เพื่อทำประโยชน์บางอย่างให้กับโลกใบนี้ หากเรารู้สึกตัวเองมากพอ เป็นตัวของตัวเอง และนำศักยภาพที่มีติดตัวเฉพาะตัวเราออกมาใช้อย่างเต็มที่ เราจะรู้สึกว่าชีวิตของเราก้าวไปข้างหน้า และเราจะมีความสุขกับชีวิตของเรามาก


ความกลัว ความคิดเห็นในด้านลบของคนอื่นต่อการทำบางสิ่งบางอย่างของเรา นักจิตวิทยาเรียกมันว่า “The fear of other people’s opinions” หรือ “FOPO” ซึ่งเป็นความกลัวที่ปกติที่พบได้ในมนุษย์ทุกคน เนื่องจากมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม และต้องการการยอมรับจากกลุ่มของตน เรื่องราวนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ที่มนุษย์จะต้องออกไปล่าสัตว์ เพื่อเป็นอาหาร และนำกลับมายังกลุ่มของตัวเอง ซึ่งในอดีต หากใครไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี ก็จะมีผลต่อตำแหน่งในกลุ่ม หรือ ชนเผ่าของพวกเขาเหล่านั้น ดังนั้น ความกลัวไม่ได้รับการยอมรับ จึงถูกส่งมายังรุ่นต่อรุ่น จนถึงปัจจุบัน

เมื่อเราปล่อยให้ความกลัวนี้มีอิทธิพลกับเรามากเกินไป ก็จะส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพที่เรามีอยู่ ตัวอย่างเช่น เราไม่กล้าที่จะยกมือถามคำถามในห้องเรียน หรือห้องประชุม เพราะกลัวคนอื่นจะไม่ชอบ การกลัวในการพูดต่อหน้าสาธารณะขน เพราะกลัวความผิดพลาด และคนอื่นจะวิพากวิจารณ์ในทางลบ หรือแม้แต่ การกลัวที่จะแสดงความคิดเห็นที่แท้จริงของตัวเอง เพราะกลัวจะไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มของตนเอง


วิธีในการจัดการกับความกลัวว่าคนอื่นจะคิดกับเราอย่างไร สามารถทำได้โดย การทำความรู้จักกับตัวเอง หรือนักจิตวิทยาเรียกมันว่า “Self-awareness” นั่นเอง

“Self-awareness” คือ ความสามารถในการรู้เท่าทัน ความรู้สึก และ ความคิดของตัวเอง ทำให้สามารถรู้จักตัวเองอย่างแท้จริง โดยการรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึก หรือ ความต้องการต่างๆ ของตัวเองได้ เมื่อเราสามารถรู้จักตัวเองได้อย่างแท้จริงแล้ว ก็จะทำให้เราทำสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการอย่างแท้จริงได้ และมีชีวิตอย่างมีความสุข


บ่อยครั้งที่เราใช้ชีวิตไปวันๆ แล้วแต่โชคชะตา หรือสิ่งรอบข้างจะนำพาไป แต่หากเราต้องการที่จะเป็นตัวของเราเองใน เวอร์ชั่นที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องกลัว หรือ ให้ความคิดของคนอื่นมามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของเรามากเกินไป เราจะต้องกลับมาสำรวจโลกภายใน นั่นก็คือ ตัวของเราเอง

การพัฒนา Self-awareness สามารถทำได้ ดังต่อไปนี้


1. ทำความเข้าใจและเรียนรู้ชีวิตของตัวเอง

ตัวเราเองเป็นคนตีความเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ถ้าเราเลือกที่จะตีความในเชิงประสบการณ์ และบทเรียนที่ได้จากสิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดในชีวิตก็จะเป็นประโยชน์กับเรา

ชีวิตของเราในวันนี้ เป็นผลของการตัดสินใจในอดีตของเรา และการตัดสินใจของเรา ก็เกิดขึ้นจากประสบการณ์ และข้อมูลที่เรามีในเวลานั้นๆ ดังนั้น การกลับไปย้อนทบทวน ถึงสาเหตุของการตัดสินใจครั้งสำคัญในอดีต ก็จะทำให้เราเข้าใจ แรงผลักดัน และสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็นตัวเราในวันนี้มากยิ่งขึ้น


2. สร้างอุปนิสัยในการสะท้อนตัวเองในทุกๆวัน


ในแต่ละวันเราทำสิ่งต่างๆ มากมาย เราให้เวลากับงาน เพื่อน ครอบครัว แต่คนหนึ่งที่เรามักจะหลงลืมก็คือตัวของเราเอง เราควรกำหนดเวลาอย่างน้อยวันละ 20 นาที ในการอยู่กับตัวเอง ฟังเสียงของหัวใจตัวเอง ทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ตามความถนัดของเรา ไม่ว่าจะเป็น การเขียนบันทึก การนั่งสมาธิ การออกไปเดิน หรือ วิ่ง ก็สามารถทำให้เราได้อยู่กับตัวเองเงียบๆ เพื่อทบทวนเรื่องราวต่างๆ ได้เช่นกัน


3. เปิดรับฟังคำวิพากวิจารณ์ที่จริงใจ

เราไม่สามารถที่จะมองตัวเองได้แบบ 360 องศา ดังนั้น การมีคนที่รักเรา และเราไว้ใจ คอยช่วยแนะนำ หรือตักเตือน เป็นเรื่องที่ดี


การรับคำวิพากวิจารณ์อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเราเปิดใจ และนำคำวิพากวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาพัฒนาตัวเราเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น ก็จะทำให้เราเติบโต และเข้มแข็งได้อย่างต่อเนื่อง



 

The Better You by Pair


เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ


นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่


การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 100 ชั่วโมง 

การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ 





1,372 views0 comments

©2020 by Ungkana. Proudly created with Wix.com

bottom of page