top of page

ความเครียดมีผลอย่างไรต่อความทรงจำของเรา?

Updated: Mar 5, 2022


คุณกำลังมีปัญหาที่ทำให้คุณรู้สึกเครียดอยู่หรือเปล่าคะ?



ความเครียดในปริมาณที่ไม่มาก จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทของเราให้ทำงานได้ดีขึ้น จดจำเหตุการณ์ได้ดีขึ้น แต่หากความเครียดนั้นเป็นความเครียดที่รุนแรง และ เรื้อรังก็จะส่งผลต่อ ความทรงจำ ก่อให้เกิดโรควิตกกังวล หรือ โรคซึมเศร้าได้



ความเครียด ส่งผลรบกวนระบบที่ชื่อว่า Homeostasis ซึ่งเป็นระยยที่ช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย เช่น ให้เรามีอุณหภูมิร่างกายที่คงที่ มีระดับน้ำ และ เกลือแร่ ความเป็นกรด เป็นด่าง ความเข้มข้นของสารต่างๆ ในร่างกายในปริมาณที่เหมาะสม และ คงที่ เป็นต้น


เราสามารถเกิดความเครียดได้ แม้ไม่ได้มี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากระทบจิตใจเรา แต่เป็นเพียงการคิดถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกเครียด นั่นหมายความว่า ตัวเราสามารถทำร้าย ตัวของเราเองได้ ด้วยความคิดนั่นเองค่ะ


ร่างกายจะทำการตอบสนองต่อความเครียด ในสองรูปแบบ นั่นคือ การตอบสนองแบบเร็ว โดยการไปกระตุ้นให้ระบบที่ชื่อว่า sympatheic nervous system (SNS) ทำงาน ระบบนี้ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบางอย่าง ที่ทำงานอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ ซึ่งจะทำงานเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ หรือ เมื่อกำลังมีอัตรายเกิดขึ้น ระบบจะสั่งให้เราสู้หรือหนี โดยเมื่อระบบถูกกระตุ้นให้ทำงาน มันจะสั่งให้ต่อมหมวกไตชั้นใน (Adrenal Medulla) หลั่งฮอร์โมนออกมาเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อหรือต่อมเป้าหมายให้ทำงาน ทำให้เรามีอาการทางร่างกายเช่น หัวใจเต้นเร็ว ม่านตาเปิดกว้างขึ้น ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง เป็นต้น ในขณะที่ การสอบสนองแบบช้า เกิดขึ้นโดย การหลั่งฮอร์โมน glucorcorticoids ที่มีผลต่อประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองไวต่อสิ่งเร้า และต่อสู้กับความเครียด นั่นเอง


ความเครียดในปริมาณที่ไม่มาก หรือ ความเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ



การที่เรารู้สึกเครียดในปริมาณที่ไม่มาก เช่น เมื่อเราเดินเข้าไปในบ้านที่มืด ไม่มีไฟ ในตอนกลางคืน ร่างกายเราจะเกิดความเครียดขึ้น เพื่อให้เราระวังภัยที่เรามองไม่เห็น โดยจะไปกระตุ้นให้ระบบ SNS ทำงาน มีผลให้ระบบประสาทของเราทำงานได้ดีขึ้น ช่วยให้เรา มองเห็นได้ดีขึ้น ได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น



ระบบ SNS จะไป กระตุ้นให้ Hippocampus ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในสมองส่วนขมับ ทำงาน ซึ่งเป็นตัวจัดกระบวนความรู้ที่ปรากฎจริงรอบๆ ตัวเรา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดเก็บข้อมูลความทรงจำระยะสั้น เข้าไปเก็บไว้ในระบบ ความทรงจำระยะยาว ซึ่งเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่จะนำไปใช้ตลอดชีวิต ทำให้เราจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น


ดังนั้น หากเรามีความเครียดในระดับที่ไม่สูงเกินไป ก็จะช่วยให้เราระมัดระวัง มีสติในการตัดสินใจ และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นนั่นเอง


แต่หากเราไม่สามารถจัดการความเครียดของเราได้ และ ปล่อยให้ความเครียดนั้นเป็นความเครียดเรื้อรัง ร่างกายก็จะปรับวิธีการในการรับมือกับความเครียดในรูปแบบใหม่ ที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพของเรา โดยฮอร์โมน glucocorticoids ที่ถูกปล่อยออกมาเพื่อกำจัดความเครียด จะมีปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลเป็นพิษต่อสมองได้


ฮอร์โมน glucocorticoids จะทำให้เซลล์ประสาทของ Hippocampus มีการทำงานที่ผิดปกติ ส่งผลให้ระบบความทรงจำล้มเหลว ไปกระตุ้น forgeting circuits หรือตัวลบความทรงจำทำงาน ทำให้คนที่มีความเครียดเรื้อรัง มีปัญหาด้านความทรงจำ บ่นว่าจำอะไรไม่ค่อยได้ หรือ มีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นได้


นอกจากนี้ ความเครียด ยังไปทำให้ mygdala ทำงาน ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ในการรับรู้ความทรงจำด้านอารมณ์ (emotional) เป็นที่รวบรวมอารมณ์ในช่วงเวลาแห่งความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว ความหวัง ความกลัว ความรู้สึกหดหู่ หรือ สับสน ซึ่งจะใช้ความทรงจำนี้ในการตรวจสอบข้อมูลที่เข้ามาใหม่ทางระบบประสาทต่างๆ เพื่อประเมินถึงภาวะอันตราย หรือ โอกาสอันดี โดยเปรียบเทียบ สถานการณ์ทางอารมณ์ที่ผ่านมา หาก การกระตุ้นที่เกิดขึ้น มีความถี่เกินไป ก็จะส่งผลทำให้เรารู้สึก วิตกกังวล สับสนได้



จะเห็นได้ว่า ความเครียดที่มากเกินไป หรือ ปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรังมีผลเสียอย่างยิ่งต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจของเรา ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะจัดการกับความคิด อารมณ์ และความเครียดที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง


แพรหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ ทำให้เราตระหนักถึงผลเสียของความเครียดที่ไม่ได้รับการจัดการนะคะ


 

The Better You by Pair


เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ


นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่


การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 100 ชั่วโมง 

การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ 




173 views0 comments
bottom of page