top of page

การตัดสินใจและผลกระทบต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดของเรา

Updated: Jul 17, 2023

เราจะอยู่ต่อ หรือ เราจะพอแค่นี้

คนๆ นี้จะเป็นคนที่เราจะเลือกคบจริงๆ ใช่ไหม

เราจะตัดสินใจแต่งงานกับคนๆ นี้ดีไหม


นี่อาจเป็นคำถามที่หลายๆ คน กำลังถามตัวเองเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ ที่มาถึงจุดที่เราจะต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง





แต่ละคน มีการตัดสินใจที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยด้านพื้นฐานการเลี้ยงดู ประสบการณ์ในอดีต ความเชื่อ และ สิ่งที่เราให้ความสำคัญ ดังนั้น การทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจของเรา ก็จะช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเอง และ ตัดสินใจได้ดีขึ้น


รูปแบบความสัมพันธ์ (attachment style)

รูปแบบความสัมพันธ์ คือ ความเชื่อ และ พฤติกรรมที่เรามีในความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่างๆ ซึ่งถูกสร้างมาจากการเลียนแบบรูปแบบความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนเลี้ยงดูของเราในวัยเด็ก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตอนเราเป็นเด็ก เราได้รับความรัก การเอาใจใส่จากคนเลี้ยง ก็จะทำให้เรารู้สึกเป็นที่รัก ปลอดภัย จนพัฒนาเป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคง (secure attachement) ทำให้เด็กคนนั้น มีความรักในตัวเอง มั่นคงทางใจ และ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรักเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ในทางกลับกัน ถ้าเด็กคนนั้น ไม่ได้รับความรัก โดนทำร้าย ก็จะทำให้เขารู้สึกไม่มั่นคง มีความคิดว่าสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นกับเขาเป็นเรื่องปกติ ยอมรับการกระทำที่ไม่ดี รู้สึกไม่เชื่อใจ และมีแนวโน้มว่าจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในอนาคต เป็นต้น



อคติ (Cognitive bias)

เราสามารถมีความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล มองสิ่งต่างๆ และ ตีความตามความเข้าใจของเรา มุมมองของเรา โดยไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ตัวอย่างเช่น ความคิดที่ไม่สมเหตุสมผล ประเภท confirmation bias ที่เราอาจจะมีความเชื่อว่า ผู้ชายทุกคนไม่ดี เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นหลักฐานที่จะมาสนับสนุนความเชื่อของเรา เราจะจดจำและ เก็บข้อมูลนั้นได้เป็นอย่างดี แต่ในทางตรงกันข้าม เราจะปฏิเสธและมองข้ามหลักฐานอื่นๆ ที่ตรงข้ามกับความเชื่อของเราออกไปทั้งสิ้น ด้วยความเชื่อแบบนี้ ก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ เพราะเราไม่ได้มองสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เป็นต้น


สิ่งที่เราให้คุณค่า (value) และ ความเชื่อของเรา (belief)

ความเชื่อ หรือ สิ่งที่เราให้คุณค่า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญต่อการตัดสินใจของเรา

ยิ่งถ้าเรารู้จักตัวเราเองมากเท่าไร เราจะชัดเจนมากขึ้นเท่านั้นว่า เราต้องการคู่ชีวิตแบบไหน ดังนั้น การตัดสินใจในการเลือกคู่ชีวิตที่มี value และ ความเชื่อสอดคล้องกับเราจะทำให้ ความสัมพันธ์มีแนวโน้นที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นด้วย


นอกจากนี้ การพูดคุยกันในเรื่องของ ความสนใจ เป้าหมายในชีวิตก็เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาในการตัดสินใจด้วย


แนวทางที่จะช่วยให้เราตัดสินใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ได้ดีขึ้น สามารถทำได้ดังต่อไปนี้


  1. ทำความเข้าใจความคิด และ ความรู้สึกของตัวเอง : ให้เวลากับตัวเอง เพื่อทำความเข้าใจความรู้สึก และ ที่ไปที่มาของวิธีคิดของเรา ถามตัวเองว่า อะไรที่เราชอบ และ อะไรบ้างที่เราไม่ชอบในความสัมพันธ์ ความรู้สึกของเราต่อคนรักเมื่อใช้เวลาร่วมกันเป็นอย่างไร เราควรซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของเรา ให้ความสำคัญต่อความต้องการของเรา

  2. สื่อสารอย่างเปิดเผย : การสื่อสารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในความสำคัญ เราควรสื่อสารกับคนรักของเราอย่างเปิดเผย และ จริงใจ บอกให้เขารู้ถึงความรู้สึก ความต้องการ และ ความกังวลของเรา รวมถึงเราเองก็ควรทำความเข้าใจกับความคิด และ ควมรู้สึกของอีกฝ่ายด้วย การที่คนสองคนมีความเข้าใจที่ตรงกัน เป็นสิ่งที่สำคัญมากในความสัมพันธ์

  3. ประเมินว่าเราเข้ากันได้หรือไม่ : ลองกลับมาสำรวจสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เป้าหมายชีวิต หรือ แม้แต่ความสนใจของเรา เมื่อเทียบกับคนรักของเรา มันมีความสอดคล้องกันหรือไม่ เราสองคนสามารถเดินไปบนเส้นทางเดียวกันได้หรือไม่

  4. พิจารณาอนาคต : คิดถึงอนาคตที่เราต้องการ ลองจินตนาการว่า เรามองเห็นคนรักของเราอยู่ในนั้นหรือไม่

  5. เชื่อในสัญชาตญาณของเรา : เราควรเชื่อในความรู้สึกของเรา ถ้ามีอะไรบางอย่างมาทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ แสดงว่ามีอะไรสักอย่างที่ไม่ถูกต้องอยู่ในนั้น เราควรระบุ และ จัดการกับความกังวลของเราให้ได้ก่อนที่จะตัดสินใจอะไรสักอย่างลงไป



หากคุณยังไม่แน่ใจว่า ควรจะตัดสินใจ หรือ ไม่เข้าใจความรู้สึกของตนเอง ไม่แน่ใจที่ไปที่มาของความคิดของตัวเอง การพูดคุยกับนักจิตวิทยาก็สามารถช่วยให้คุณเข้าใจตัวเอง และ มองเห็นทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น



 

The Better You by Pair


เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ


นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่


การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 1000 ชั่วโมง 

การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ 








bottom of page