top of page

ความฉลาดทางอารมณ์ และ วิธีการพัฒนาเพื่อความสำเร็จในชีวิต

Updated: Jul 17, 2023

สิ่งหนึ่งที่แพรอยากปรับปรุง และ พัฒนาให้ดีขึ้น ก็คือ ทักษะด้านความฉลาดทางอารมณ์ หรือ Emotional Intelligence


ที่ผ่านมา แพรไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไร ใช้ชีวิตตามสัญชาตญาณ ความชอบ หรือ ไม่ชอบของตัวเอง จนวันหนึ่งเจอวิกฤตชีวิตที่เปรียบ เสมือน wake up call แรงๆ ให้แพรตื่นขึ้นมา


ชีวิตของเราในปัจจุบัน เป็น ผลของการตัดสินใจ ครั้งแล้วครั้งเล่าของเราในอดีต ... และ แน่นอน ถ้าเรารู้สึกว่า เราไม่ชอบชีวิตของเรา หรือ ผลของการตัดสินใจของเราเท่าไร เรากำลังรู้สึกว่า เราตัดสินใจผิดพลาด


ความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์

การตัดสินใจของเรา มาจากความรู้และประสบการณ์ที่เรามีอยู่ในตอนนั้น แต่บ่อยครั้ง เราก็ตัดสินใจ หรือ ทำอะไรลงไปตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น


ความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการรับรู้ และ จัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตัวเอง อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึง อารมณ์ของผู้อื่นด้วย


คนที่จะมีความฉลาดทางอารมณ์ จะต้องมีทักษะ ได้แก่ ความสามารถในการรับรู้ และ ระบุอารมณ์ที่เกิดขึ้น (Emotional Awareness) และ จัดการกับอารมณ์นั้นได้ดี ส่งผลดีต่อการใช้ชีวิต รวมถึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น เพราะคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ มีทักษะในการรับรู้อารมณ์ที่ดี ทำให้เขาเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นด้วย เช่นกัน



ข้อดีของการมีทักษะ ความฉลาดทางอารมณ์สูง


ไม่เพียงเท่านี้ ข้อดีของ Emotional Intelligence ยังทำให้คนนั้น สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดี เพราะเขาจะมีสติที่ดี คิดถึงผลของการกระทำ และ สามารถที่จะ “เลือก” ตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ตาม สิ่งที่พวกเขาเห็นคุณค่า และ ความสำคัญจริงๆ ส่งผลต่อการจัดลำดับความสำคัญต่างๆ ในชีวิต และ ประสบความสำเร็จในแบบที่พวกเขาตั้งเป้าหมายไว้


ในทางกลับกัน หากเราไม่สามารถรู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง หรือ พยายามกดความรู้สึกนั้นไว้ไม่พูดถึงมัน ก็จะส่งผลเสียไม่ว่าต่อสุขภาพจิต หรือ การดำเนินชีวิต


นักจิตวิทยาได้ ทำการทดลอง โดยการแบ่งครูชั้นประถมออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มอารมณ์ดี โดยครูกลุ่มนี้ จะถูกกระตุ้นให้คิดถึงแต่ประสบการณ์ต่างๆ ที่ดีในชีวิต ในขณะที่อีกกลุ่ม เป็นกลุ่ม อารมณ์ไม่ดี ครูกลุ่มนี้ ถูกกระตุ้นประสบการณ์ในด้านลบ


นักจิตวิทยาได้ให้ครูทั้งสองกลุ่มตรวจเรียงความเดียวกันของนักเรียน และพบว่า ครูคนที่มีคะแนนด้านอารมณ์ต่ำ (มีอารมณ์ทางด้านลบสูง) ให้คะแนนเรียงความนักเรียนต่ำที่สุด


จากผลการทดลอง แสดงให้เห็นว่า อารมณ์ ส่งผลอย่างยิ่งต่อความคิด และ การกระทำของเรา





เราจะพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเราได้อย่างไร

Brackett นักจิตวิทยาได้แนะนำระบบที่ชื่อว่า R.U.L.E.R ซึ่งจะสามารถช่วยให้เราพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเราได้ ดังนี้

  • R: Recognize รับรู้

ก่อนที่เราจะพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเราได้ เราจะต้องรับรู้ว่าเรารู้สึกอย่างไรอยู่ก่อน บ่อยครั้งที่คนจำนวนมาก เพิกเฉยกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น จนทวีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย เช่น เครียด เรื้อรังจนทำให้ ปวดต้นคอ ปวดหลัง เป็นต้น



เราสามารถใช้ เทคนิค mood meter ในการสำรวบอารมณ์ของเรา โดยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า

  1. อารมณ์นี้มีความรุงแรงมากแค่ไหน จากคะแนน 1-10

  2. อารมณ์นี้ส่งผลต่อเราในด้านบวก หรือ ด้านลบ


นักจิตวิทยาได้จัดกลุ่มอารมณ์ต่างๆ จากการตอบคำถาม ไว้ดังต่อไปนี้

  1. ความรุนแรงต่ำ ส่งผลด้านบวก ได้แก่ สุขใจ สงบสุข

  2. ความรุนแรงต่ำ ส่งผลด้านลบ ได้แก่ เศร้า หมดอาลัยตายอยาก

  3. ความรุงแรงสูง ส่งผลด้านบวก ได้แก่ ความสุข ความตื่นเต้น

  4. ความรุนแรงสูง ส่งผลด้านลบ ได้แก่ โกรธ หงุดหงิด


  • U: Understand เข้าใจ

เมื่อเรารู้แล้วว่าเรารู้สึกอย่างไร ต่อไป ก็คือ การพยายามเข้าใจมัน ซึ่งสามารถทำได้ โดยการตอบคำถามตัวเอง ว่า เหตุการณ์อะไร ในอดีต เชื่อมโยงกับความรู้สึกนี้


ตัวอย่างเช่น เรารู้สึกไม่สึก วิตกกังวล กับการทำงานกับหัวหน้าใหม่ เพราะหัวหน้าใหม่ มีอะไรบางอย่างที่ทำให้เรานึกถึงคนที่เคยทำให้เรากลัว เป็นต้น


  • L: Label

ตั้งชื่อให้ความรู้สึกนั้นๆ ให้ตรงกับสิ่งที่เรารู้สึกมากที่สุด

คนส่วนมาก ไม่รู้ว่า จะอธิบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาอย่างไร บางคนอาจรู้จักแค่ กำลังอารมณ์ดี หรือ อารมณ์ไม่ดี หรือดีกว่านั้นหน่อยก็อาจจะรู้จักแค่ กำลังมีความสุข โกรธ หรือ กลัว เป็นต้น


เราสามารถอธิบายความรู้สึกของเราออกมาเป็นคำพูดให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ มีความสุขมากที่สุดในโลก เป็นต้น ซึ่งการทำแบบนี้ นักประสาทวิทยาได้อธิบายไว้ว่า ยิ่งเราอธิบายถึงความรู้สึกของเราชัดเจนเท่าไร เราก็จะยิ่งจัดการมันได้ดีเท่านั้น



ตัวอย่างเช่น ความเครียด ถ้าเราระบุว่า เรากำลังเครียด ซึ่งมันคือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เมื่อเราพยายามทำอะไรบางอย่างที่เกินความสามารถของเรา ในขณะที่ ถ้าเราระบุว่า เรากำลัง overwhelmed หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ท่วมท้น เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้น จากการที่เราทำอะไรที่เยอะเกินไป



ถ้าเราระบุมันได้ชัดเจนและเหมาะสม เราก็จะ จัดการมันได้ดีขึ้น เช่น เราสามารถลดความเครียด โดยการพัฒนาทักษะของเรา หรือ ถ้าเรารู้สึกท่วมท้น เราก็สามารถลดปริมาณงานของเราลงได้ เป็นต้น

  • E : Express

อารมณ์ของเรา ถ้าไม่ถูกปลดปล่อย มันก็จะไม่ได้หายไปไหน

แต่ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราควรพูด หรือ ทำทุกอย่างแบบที่เราคิด ตอนที่เรามีอารมณ์นั้นๆ


เราสามารถเลือกที่จะ ปรับอารมณ์ของเราให้คงที่ ทำความเข้าใจที่มาที่ไป และ เลือกที่จะแสดงออกในรูปแบบที่เหมาะสม เป็นต้น


  • R : Regulate

เป็นขั้นสุดท้าย นั่นคือ การจัดการอารมณ์ของเรา เพื่อที่จะไม่ให้มันมากระทบกับชีวิตของเรา หรือ แผนที่เราวางไว้ ซึ่ง เราสามารถจัดการอารมณ์ของเราให้อยู่ในระดับปกติ ได้โดยการ ออกไปเดิน ออกกำลังกาย เขียน หรือ แม้แต่นั่งสมาธิ เป็นต้น


นี่หละคะ วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยทำให้คุณจัดการอารมณ์ของคุณได้ดีขึ้น แพรหวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ


 

The Better You by Pair


เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ


นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่


การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 1000 ชั่วโมง 

การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ 



bottom of page