top of page

6 วิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำเพื่อที่จะมีอิสรภาพด้านอารมณ์

Updated: Jul 17, 2023

คุณเป็นคนหนึ่งที่มีความทุกข์​ และมีความคิดว่า ถ้าคนอื่นเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอย่างที่เราคิด เราจะหายทุกข์ และ มีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น



ความจริงก็คือ หากเรามีความคิดเช่นนี้ เราจะไม่มีทางหายทุกข์ และ มีความสุขได้อย่างที่เราคิด เพราะว่า สิ่งที่เราคาดหวังให้เปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้


มนุษย์ทุกคนเป็นเจ้าของความคิด และ ความรู้สึกของเราเอง


เรามีทางเลือกในการเลือก ความคิด และ ความรู้สึกของเรา ส่วนมากแล้ว เราไม่ได้โฟกัสในการจัดการที่ความคิดและความรู้สึกของเรา แต่เลือกที่จะตอบสนองสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบกับใจของเรา ตามสัญชาตญาณ ที่มาจาก ประสบการณ์ต่างๆ ที่เราเรียนรู้ และ หล่อหลอมให้เราเป็นเรา มีความเชื่อ และ ความคิด การตีความสิ่งต่างๆ ในแบบของเราในวันนี้



การที่เราใช้เวลา และ พลังงานของเราไปพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ภายนอก ที่อยู่นอกเหนือ การควบคุมของเรา ไม่เพียงแต่ทำให้เรามีความเครียดมากขึ้น รู้สึกสิ้นหวัง เรายังไม่มีทางที่จะมีความสุขได้อย่างแท้จริง เพราะ สิ่งต่างๆ จะไม่มีทางเป็นอย่างที่เราคิดได้ตลอดเวลา


คำถามที่เราควรเริ่มถามตัวเองตั้งแต่วันนี้ ได้แก่

“เราจะสร้างชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เราต้องการได้อย่างไร”

“ความคิดไหน หรือ สิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันแบบไหน ที่ทำให้เราไม่มีความสุข”

“อะไรคือสิ่งที่ทำให้ฉันทำสิ่งต่างๆ ในปัจจุบัน แม้มันจะไม่สร้างความสุขให้ฉันก็ตาม”



โลกจะส่งเหตุการณ์ให้เราทุกข์แบบเดิมๆ เจอสิ่งเดิมๆ จนกว่าเราจะเรียนรู้ และ เปลี่ยนแปลงตัวเองจากภายใน


การเปลี่ยนแปลงจากภายใน เริ่มต้นได้ โดยการเท่าทันความคิด และ ความรู้สึกของเรา กลับมาทำความเข้าใจที่มาที่ไปของความคิดของเราอีกครั้ง และ เลือกที่จะตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ภายนอกอย่างมีสติ ในแบบที่เราจะไม่มานั่งเสียใจหรือมีความทุกข์ในภายหลัง


เมื่อใดก็ตามที่เราเป็นเจ้าของความคิดและความรู้สึกของเรา เราจะไม่ใช้ชีวิตไปตามอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบใจของเราอีกต่อไป เราจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น และ รู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น


บทความนี้ นักจิตวิทยาได้แนะนำวิธีการกลับมาเป็นเจ้าของความคิดและอารมณ์ของเราไว้ ด้วยกัน 6 ข้อดังต่อไปนี้


1. เข้าใจว่าตัวเราในปัจจุบัน คือ ผลของการตัดสินใจของเราในอดีต


แน่นอนว่า เราอาจไม่ชอบการตัดสินใจในบางครั้งของเราในอดีต แต่ การตัดสินใจของเราในตอนนั้น ก็มาจากประสบการณ์ ที่เราได้เรียนรู้มาในอดีตจนถึงเวลานั้นที่เราตัดสินใจ เราได้ตัดสินใจมันอย่างดีที่สุดเท่าที่เรารู้ ดังนั้น ผลลัพธ์ที่มันอาจไม่เป็นดั่งใจ หรือ ความผิดพลาดล้มเหลวที่เกิดขึ้น จึงเป็นแค่เรื่องใหม่ที่เราจะสามารถเรียนรู้และช่วยให้เราตัดสินใจในอนาคตได้ดีขึ้น เพียงเท่านั้น


อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน การใช้ชีวิตก็เหมือนการทดลองซ้ำๆ จากปัจจัยที่เราไม่รู้มากมาย จนได้ผลลัพธ์ที่เราต้องการในที่สุด

ความผิดพลาด ล้มเหลว เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะต้องเจอ แทนที่เราจะรู้สึกแย่กับมัน เราควรมองมันเป็นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต ที่สำคัญ อดีต ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับเราอีกในอนาคต เพราะเรามีองค์ความรู้ใหม่ เราสามารถเลือกที่จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบกับใจเราได้ใหม่ ดังนั้น มันจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิมนะคะ


2. ค้นหาสิ่งที่เราให้ความหมายและความสำคัญในชีวิต

บ่อยครั้งที่เราดำเนินชีวิตของเราตามความคาดหวังของคนอื่น ของสังคม จนเราลืมกลับมาฟังเสียงของหัวใจเราเองว่า จริงๆ แล้ว ความสุขของเราคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันมีความหมายต่อเรา มีความสำคัญต่อชีวิตเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนคนอื่นก็ได้


ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่มีความหมาย และ สำคัญกับเรา เราจะทำมันจนสำเร็จ เราจะพยายามพัฒนาตัวเราเองให้ทำสิ่งนั้นๆ ให้ได้ดีขึ้น โดยไม่รู้สึกเหนื่อย หรือ แย่ แต่เราจะสนุกกับมัน มีความสุขที่ได้ทำ เมื่อเรามีความสุขอย่างแท้จริงจากสิ่งที่เราทำ ดังนั้น คนอื่นจะคิดอย่างไร ก็ไม่ได้สร้างผลกระทบกับเรามากนักอีกต่อไป


3. ใช้ชีวิตของเราเอง

เมื่อเรารู้แล้ว ว่าอะไรคือสิ่งที่มีความหมายและสำคัญกับเรา ต่อไปก็คือ การเลือกที่จะใช้ชีวิตของเราเอง ในช่วงแรก เราอาจรู้สึกวิตกกังวล หรือไม่สบายใจ เพราะกลัวว่า การที่เราทำในสิ่งที่เรารัก อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนที่เราให้ความสำคัญ ความเป็นจริงก็คือ คนที่เรารักทุกคน อยากเห็นเรามีความสุข และ มีชีวิตที่ดี ดังนั้น ถ้าเราสามารถดูแลตัวเอง และมีชีวิตที่มีความสุขได้ คนที่เรารักจะเข้าใจ



4. รู้จักตัวเองจากความสัมพันธ์รอบตัว


เรารู้จักตัวเราเองผ่านความสัมพันธ์กับคนรอบตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือ คนรักของเราก็ตาม เพราะคนใกล้ตัวของเราจะเป็นคนที่กระตุ้นความคิด และ อารมณ์ความรู้สึกของเรามากที่สุด


แทนที่เราจะเลือกตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบกับอารมณ์ของเราตามสัญชาตญาณแบบที่ผ่านมา เราสามารถกลับมาสังเกตและเข้าใจที่มาที่ไปของความคิด และ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น


เราใช้ความสัมพันธ์ของคนใกล้ตัวเป็นเครื่องมือในการฝึกการจัดการอารมณ์ของเรา และ รู้จักตัวตนของเราที่แท้จริง

5. รับผิดชอบชีวิตของตัวเอง

ถ้าเรามีความคิดว่า ชีวิตของเราอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของเรา เมื่อนั้น เราจะรับผิดชอบต่อความคิด การกระทำ และแม้แต่ความรู้สึกของเรา


ไม่ว่าจะทุกข์ หรือ สุข จริงอยู่คนอื่นมีส่วนในการกระทำต่อเรา แต่เรามีทางเลือกที่จะตีความ มีทางเลือกที่จะเลือกวิธีคิด ความรู้สึก จนถึงวิธีการตอบสอง สิ่งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมจัดการของเรา


6. ตระหนักรู้ว่า เราเป็นเจ้าของความรู้สึกของเราเอง


มีงานวิจัยทางประสาทวิทยามากมายได้ทำการเผยแพร่เกี่ยวกับ ความสุขของมนุษย์ว่า สมองของเราจะหลั่งสารชื่อว่า serotonin และ dopamine ออกมา เมื่อเรามีความสุข


ความสุขของเราสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เช่น การที่เราคิดถึงสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ซึ่งเราสามารถทำได้เอง และ ทันที โดยไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัย และ สิ่งแวดล้อมภายนอกเลย


จากทั้ง 6 ข้อข้างต้น แพรเชื่อว่า คุณสามารถนำเอาไปใช้เป็นแนวทางในการกลับมามีความสุขได้ด้วยตัวเอง และ เป็นเจ้าของความคิดและความรู้สึกของเราเองได้ไม่มากก็น้อยนะคะ


 

The Better You by Pair


เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ


นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่


การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 1000 ชั่วโมง 

การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ 


bottom of page