แพรเชื่อว่า สิ่งที่คนเป็นแม่หลายคนกังวลใจ เมื่อต้องแยกทางกับพ่อของลูก นั่นก็คือ เราจะตอบลูกได้อย่างไร ว่า พ่อของเขาไปไหน ทำไมไม่อยู่กับเขา หรือ ทำไมเขาถึงไม่มีพ่อเหมือนคนอื่นๆ
การที่เด็กคนหนึ่งจะมีความสงสัย ถึงความแตกต่างระหว่างครอบครัวของตัวเองกับคนอื่น เป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจาก เด็กๆ กำลังพยายามทำความเข้าใจตัวเอง และ โลกภายนอกอยู่
แม้ว่าการที่จะต้องพูดถึง คนที่ทำร้ายจิตใจเรา หรือ ความล้มเหลวของครอบครัว จะเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจ และ หลายคนอยากที่จะหลีกเลี่ยง แต่การเพิกเฉยต่อคำถามของลูก ก็จะส่งผลเสียต่อเขาในอนาคต ดังนั้น บทความนี้ เราจะมาคุยกันถึงวิธีการรับมือในการตอบคำถามของลูกกันค่ะ
คำถามที่คนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมักจะเจอบ่อยๆ จากลูก ได้แก่
พ่อของเขาคือใคร
ทำไมพ่อถึงไม่อยู่ด้วย
เมื่อไรพ่อจะกลับมา
พ่อจะคิดถึงเราไหม
ทำไมคนอื่นมีพ่อ แต่เขาไม่มี
ซึ่งคำถามเหล่านี้อาจจะมีผลกระทบทางจิตใจของเรา ทำให้เรารู้สึกเสียใจ เจ็บปวด และเศร้าใจได้ ซึ่งการเรียนรู้ที่จะเยียวยาและจัดการตัวเราเอง เพื่อมีอารมณ์ที่มั่นคง ในการจัดการความรู้สึกของเราก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
เด็กๆ หากไม่ได้รับคำตอบ หรือ แม้แต่ได้คำตอบแล้ว ก็อาจจะยังคงถามซ้ำๆ อยู่ เนื่องจากพวกเขากำลังทำความเข้าใจความแตกต่าง ชีวิต และ ตัวตนของเขา ซึ่งในฐานะแม่ เราสามารถที่จะช่วยเขาได้โดยการ
เปิดใจ และ ทำให้ลูกรู้สึกว่า เขาสามารถคุยกับเราได้
ทำให้ลูกรู้สึกว่า คำถามของเขา ไม่ได้ทำให้เราเสียใจ หรือ โกรธ
อนทน และ คิดอย่างรอบคอบต่อวิธีการอธิบายเพื่อให้ลูกเข้าใจ
เด็กเล็กๆ มักจะมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเขา โลกของเขายังใบเล็กมากๆ จึงไม่น่าแปลกใจเลยถ้าเขาจะมีความเข้าใจผิดว่า สาเหตุที่พ่อไม่ได้อยู่กับเขา หรือ การที่พ่อแม่ต้องเลิกกัน เป็นเพราะเขา หรือ เขาไม่เป็นที่รัก
การที่เด็กมีความเชื่อแบบนั้น จะส่งผลเสียต่อเขาในระยะยาว เนื่องจากการมีความเชื่อที่เป็นลบเกี่ยวกับชีวิตและตัวเอง
ในฐานะที่เราเป็นแม่ เราจะต้องมั่นใจว่า เราสร้างความเข้าใจกับลูกที่ถูกต้องว่า การที่พ่อแม่เลิกกัน หรือพ่อไม่ได้อยู่ด้วย ไม่ใช่เป็นเพราะเขาแต่อย่างใด เราต้องพยายามอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแบบที่ไม่ซับซ้อน เพื่อให้ลูกเข้าใจได้ ควรพูดเรื่องจริง ตัวอย่างเช่น
พ่อเขายังไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่พ่อ
เราอยู่ไกลกัน พ่อเลยอยู่กับเราไม่ได้
พ่อมีปัญหาของเขาที่เขาจะต้องจัดการ
ถึงแม้ว่า บางเหตุผลจะดูไม่สมเหตุสมผลที่ทำไม พ่อถึงไม่อยู่กับเขา แต่อย่างน้อยก็จะช่วยทำให้ลูกของเรารับรู้ว่า เขาไม่ใช่สาเหตุของปัญหา หรือ ไม่เป็นที่รักนั่นเอง
สิ่งที่คุณแม่จะต้องให้ความสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะคุยกับลูก มีดังต่อไปนี้
1. พูดความจริงกับลูก
แน่นอนว่าคนเป็นแม่ต้องการที่จะปกป้องลูกจากความรู้สึกเจ็บปวด แต่การโกหกลูกก็ไม่ใช่เรื่องดี เช่นกัน วิธีการที่เราจะให้ข้อมูลที่เป็นความจริงอย่างเหมาะสมสามารถทำได้ดังต่อไปนี้
ไม่จำเป็นต้องให้รายละเอียดมากจนเกินไป
พิจารณาอายุของลูก เมื่อต้องคุยกับลูกเรื่องนี้
พยายามแยกแยะอารมณ์ส่วนตัว ความกลัว หรือ ความกังวลใจของเราออกไป
ที่สำคัญ เราไม่ควรโกหกลูกว่า พ่อของเขาตายแล้ว เพราะวันหนึ่งลูกก็จะรู้ความจริงอยู่ดี และทำให้เขารู้สึกแย่ที่แม่โกหกเขา
2. สังเกตความรู้สึกของลูก
พยายามสังเกตความรู้สึกของลูก เวลาที่ลูกเล่าถึงความรู้สึกของตัวเอง ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี สะท้อนความรู้สึกที่เกิดขึ้นของลูก เช่น
แม่เข้าใจว่าลูกโกรธ
แม่ก็โกรธ บางครั้งเหมือนกัน
แม่รู้ว่ามันยาก
เราไม่ควรห้ามไม่ให้ลูกรู้สึกสิ่งที่เขารู้สึก เพียงแต่ช่วยให้ลูกเข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้น เพื่อให้เขาสามารถจัดการมันได้อย่างเหมาะสมต่อไป
3. ไม่พูดสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับพ่อของลูก
แม้ว่าการกระทำของพ่อของลูกจะยังคงสร้างความเจ็บปวด และ เสียใจให้กับเรา และอาจจะเป็นเหตุผลให้ความสัมพันธ์ต้องจบลง แต่การพูดสิ่งที่ไม่ดีเกี่ยวกับพ่อของเขา จะสร้างผลกระทบต่อ self-esteem หรือ ความชื่นชอบในเองของเขา เพราะ เขาจะรู้สึกว่า พ่อไม่ดี และเขามีส่วนของความไม่ดีของพ่อ ที่จะทำให้เขาไม่ชอบตัวเอง นั่นเอง
4. พูดสิ่งที่ดีเกี่ยวกับพ่อของลูก และ ความสัมพันธ์ที่ดี
พยายามพูดกับลูก ถึงความทรงจำที่ดีในความสัมพันธ์ หรือ ข้อดีของพ่อของลูก เพื่อให้เขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง และ มองว่าความรักเป็นสิ่งที่ดี
5. แนะนำวิธีจัดการอารมณ์ ความรู้สึก และ ความคิดให้กับลูก
ไม่ว่าเด็กคนไหน ที่มีครอบครัวไม่สมบูรณ์ หรือ พ่อไม่ได้อยู่กับเขา สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ การบอกให้เขาเข้าใจว่า เขาไม่ใช่สาเหตุของปัญหา และในฐานะแม่ เราจะต้องมีความอดทนที่จะคอยย้ำความคิดนี้ และอธิบายให้ลูกเข้าใจ จากคำถามซ้ำๆ ที่เขาอาจจะมี
นอกจากนี้ เราสามารถที่จะสร้าง ความเข้มแข็งทางอารมณ์ให้กับลูกได้ โดยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้
การรู้จักขอบคุณกับสิ่งรอบตัว
การคิดบวก คิดถึงสิ่งที่ทำให้เขามีความสุข
เขียนบันทึกความคิด ความรู้สึกของตัวเอง เพื่อตกตะกอนความคิด
นั่งสมาธิ เพื่อให้เขามีสติ สามารถรู้เท่าทันอารมณ์ และ ความรู้สึกของตัวเอง เพื่อจัดการกับมันได้
หรือ การให้ลูกพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าใจความคิดของเขาได้
แพรหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเพื่อเตรียมตัวในการตอบคำถามลูก และ ความรู้สึกลูกของเราได้นะคะ
The Better You by Pair
เราเป็น Platform ที่แบ่งปันบทความด้านจิตวิทยาที่จะช่วยให้คุณสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของคุณ
นอกจากนี้ เรายังมีบริการอื่นๆ ที่คุณสามารถใช้บริการได้ในรูปแบบออนไลน์ ได้แก่
การให้บริการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตโดยนักจิตวิทยามืออาชีพ ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษามากกว่า 100 ชั่วโมง
การบำบัดในรูปแบบต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจสำหรับปัญหาของคุณโดยเฉพาะ
Comments